ซูจีรับเมียนมาควรจัดการรัฐยะไข่ได้ดีกว่านี้
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาระบุว่า รัฐบาลของเธอควรรับมือกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ได้ดีกว่านี้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนได้อพยพลี้ภัยการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา หลังเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธขาวโรฮิงญาคือกองทัพกู้ชาติโรฮิงญาแห่งอารกันที่โจมตีตำรวจเมียนมา 30 นายที่ป้อมตำรวจและฐานทัพก่อนในเดือนส.ค.ในปีที่แล้ว
“แน่นอนว่า หากมองย้อนหลังไป สถานการณ์ในรัฐยะไข่ควรมีการจัดการที่ดีกว่านี้” นางซูจีระบุในการประชุม World Economic Forum ของอาเซียนในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
“แต่เราเชื่อว่า เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะปกป้องใครตามหลักนิติธรรม”
นางซูจียังได้พูดถึงกรณีนักข่าวชาวเมียนมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก โดยเป็นคดีที่ทั้งสองคนกำลังสืบสวนกรณีการสังหารหมู่ในรัฐยะไข่ เธอระบุว่า พวกเขาไม่ได้ถูกตัดสินเพราะเป็นนักข่าว แต่เพราะพวกเขาทำผิดกฎหมาย
โดย Wa Lone วัย 32 ปี และ Kyaw Soe Oo วัย 28 ปี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปีในสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากมีการละเมิดกฎหมายทำความลับของทางราชการรั่วไหลขณะที่พวกเขามีการรายงานการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของทหารในระหว่างการปราบปรามของกองทัพในรัฐยะไข่
คำพิพากษาของศาลก่อให้เกิดคำวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อ ขณะที่กลุ่มสิทธิตำหนินางซูจีว่า ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของกองทัพจนไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับนักข่าวทั้งสองคน
เธอเริ่มพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ในวันที่ 13 ก.ย. ในระหว่างการประชุมที่ World Economic Forum โดยปกป้องคำตัดสินของศาลที่ให้จำคุกนักข่าวทั้งสองคน
“พวกเขาไม่ได้ถูกจำคุกเพราะพวกเขาเป็นนักข่าว แต่เพราะศาลตัดสินว่าพวกเขาละเมิดกฎหมายทำความลับของทางการรั่วไหล” เธอกล่าวแสดงความเห็นเป็นครั้งแรกในประเด็นนี้
ถึงแม้จะมีผู้วิจารณ์แสดงความเห็นท้าทายคำตัดสิน ทั้งองค์การสหประชาชาติ กลุ่มสิทธิซึ่งเคยสนับสนุนเธอและรองประธานาธิบดี ที่ชี้ว่าเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม แต่นางซูจีระบุว่า คดีนี้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ
“คดีนี้มีการพิจารณาในศาลเปิด ดิฉันไม่คิดว่า จะมีใครถูกแทรกแซงให้อ่านคำพิพากษาเช่นนั้นได้” นางซูจีเสริม
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมามีปฏิบัติการกวาดล้างในเดือนส.ค.จนทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศจำนวนมาก โดยมีการกระทำที่โหดร้ายรุนแรงทั้งข่มขืน ฆาตกรรม และวางเพลิงหมู่บ้าน ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
ผู้สื่อข่าวทั้งสองของรอยเตอร์ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าเป็นการจัดฉากจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้พวกเขาถูกจับกุมตัว ขณะที่พวกเขาพยายามจะเปิดเผยการสังหารโหดชาวโรฮิงญาในหมู่บ้าน Inn Din ในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว
ในสัปดาห์นี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวหาเมียนมาว่ามีการณรงค์แคมเปญที่ต่อต้านผู้สื่อข่าว
โดยตำหนิว่า มีการใช้กฎหมายและศาลเป็นเครื่องมือของทางรัฐบาลและกองทัพ เพื่อเป็นการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อต่อต้านนักข่าวอิสระ.