บังคลาเทศเรียกร้องกดดันเมียนมารับโรฮิงญาคืน

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายกรัฐมนตรีของบังคลาเทศกระตุ้นประชาคมโลก รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IDB) ให้เพิ่มแรงกดดันเมียนมาเพื่อให้รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่หลบหนีการปราบปรามจากกองทัพกลับคืนประเทศ
“ แม้จะมีผลกระทบด้านลบกับทรัพยากรของเรา ระบบนิเวศและประชากรในประเทศ เราก็เปิดพรมแดนของเราเพื่อให้เป็นที่พักพิงแก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากบนพื้นฐานมนุษยธรรม” นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินาแห่งบังคลาเทศกล่าวในพิธีเปิดฮับในภูมิภาคของ IDB ในกรุงธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศ
“ ดิฉันขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงกดดันเมียนมาให้ปฏิบัติตามข้อตกลง” นายกฯ ฮาสินาเสริม โดยไมได้ชี้ชัดถึงมาตรการเฉพาะเจาะจงในความคิดของเธอ
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนเข้าไปในบังคลาเทศในเดือนส.ค.ปี 2560 หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ของเมียนมาทำให้ทางกองทัพปฏิบัติการโต้กลับด้วยปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง
“ ทาง IDB ไม่ควรนิ่งเฉย เมื่อพลเมืองโรฮิงญาของเมียนมาตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ” นายกฯ ฮาสินาเสริม
โดยทางธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลามระบุว่า ได้ขานรับกับวิกฤตมนุษยธรรมในเชิงรุกเพื่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา
“ มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลบังคลาเทศและมาเลเซีย องค์กรยูนิเซฟและหุ้นส่วนในการพัฒนาอื่นๆในภูมิภาค โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนทางการศึกษาที่สำคัญแก่เด็กผู้ลี้ภัยที่มาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวผ่านการศึกษาเบื้องต้นและการศึกษาพื้นฐานที่ไม่เป็นทางการ และยังช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของที่พักพิง จุดให้บริการน้ำ และบริการดูแลสุขภาพเร่งด่วน” IDB ระบุ
ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วเพื่อเริ่มดำเนินการส่งคืนชาวโรฮิงญากลับเมียนมาภายในสองเดือน แต่ยังไม่มีการเริ่มดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากชาวโรฮิงญาซึ่งประสบกับความเข้มงวดจากการเคลื่อนไหวในเมียนมา ยังคงหลั่งไหลข้ามพรมแดนเข้าไปในบังคลาเทศ
Zaw Htay โฆษกรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในวันที่ 9 ก.ย. โดยชี้ว่าภายใต้นโยบายสื่อสารใหม่ เขาสามารถตอบคำถามของสื่อมวลชนได้เฉพาะในการแถลงข่าวในกรุงเนปิดอว์
เมียนมาระบุว่าพร้อมที่จะยอมรับผู้ลี้ภัยกลับคืน และได้สร้างทั้งศูนย์รับรองและค่ายในระหว่างรอเพื่อเป็นที่พักพิงเบื้องต้นสำหรับการรับคืนชาวโรฮิงญา แต่กลุ่มสิทธิระบุว่า สภาพในรัฐยะไข่ของเมียนมาตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยกลับคืนมา
รัฐบาลเมียนมาระบุเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ว่า ขอปฏิเสธคำตัดสินจากศาลอาญาระหว่างประทศ ( ICC) ที่ว่า การขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาไปบังคลาเทศของเมียนมาเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำทารุณต่อชาวโรฮิงญา ทางกองทัพเพียงแต่ต้องการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น.