เขื่อนเซเปียนในลาวแตก
เขื่อนเซเปียนในลาวแตก ต้องอพยพชาวบ้านอย่างเร่งด่วนเพื่อหนีน้ำทะลักจากเขื่อนไหลเข้าท่วมบ้านเรือน พบบริษัทไฟฟ้าในไทยถือหุ้น 25%
วันที่ 24 ก.ค.2561 สถานีโทรทัศน์ ABC Laos News รายงานว่าเกิดเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน ในแขวงอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาว เกิดแตกที่บริเวณสันเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน 6 หมู่บ้านในเมืองสะหนามไช มีรายงานว่าประชาชนกว่า 6,600 คนกลายเป็นคนไร้บ้าน มีรายงานผู้สูญหายนับร้อยคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 50 ราย
ทั้งนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้นำเรือเข้าช่วยเหลือและอพยพประชาชนที่หนีน้ำขึ้นไปติดค้างอยู่บนหลังคาบ้านออกมายังที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีการประกาศเตือนว่าจะมีมวลน้ำจากเขื่อนไหลลงมาเพิ่มเติมอีก “ หายนะครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน และสูญหายอีกหลายร้อยคน” สำนักข่าวรายงาน
ยังไม่ชัดเจนถึงสาเหตุที่ทำให้เขื่อนเซเปียนพังทรุดลงมา โดยการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2556 และมีกำหนดจะเริ่มผลิดกระแสไฟฟ้าได้ในปีนี้
จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไฟฟ้า-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นการร่วมทุนของ 4 บริษัทข้ามชาติชั้นนำ คือบริษัท SK Engineering and Construction ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power ถือหุ้น 25% บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% จากการสอบถามไปยังประชาสัมพันธ์ของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ระบุว่าอยู่ระหว่างการออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าว
เขื่อนเซเปียนพังหลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักและน้ำท่วมฉับพลีนทั่วทั้งพื้นที่ตอนใต้ของลาว โดย SK Engineering & Construction ซึ่งเป็นบริษัทจากเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับสื่อรอยเตอร์ว่า บริษัทกำลังวางแผนเพื่อช่วยเหลือในการอพยพและกู้ภัยประชาชนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขื่อน
ขณะที่เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ของไทยกล่าวว่า เขื่อนเซเปียนเป็นเขื่อนในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทำให้ไม่ได้อยู่ในความดูแลของทางเอ็มอาร์ซี และขึ้นอยู่กับแผนงานของลาวโดยตรง แต่หากมีการเกิดปัญหาเขื่อนแตก ต้องไปตรวจสอบว่ามีความบกพร่องในส่วนไหน
นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดของลาวเลื่อนการประชุมของรัฐบาลออกไปและเดินทางลงพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบในเมืองสะหนามไชพร้อมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อจับตาปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างเข้มงวด สื่อภาครัฐรายงาน
หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นได้ยื่นขอให้รัฐบาลและประชาคมอื่นๆให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหยื่อผู้ประสบภัย รวมถึงการแจกจ่ายเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรคให้กับพวกเขา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 90% ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ ได้เริ่มเก็บกักน้ำแล้ว คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2562 และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 410 เมกกะวัตต์ โดยใช้งบในการก่อสร้างราว 2 หมื่นล้านบาท และขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้ไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลลาวมีนโยบายส่งเสริมประเทศลาวให้เป็น ‘แบตเตอรีแห่งเอเชีย’ เนื่องจากลาวตั้งอยู่ใกลกับลำน้ำโขง ซึ่งเป็นสถานที่สมบูรณ์แบบสำหรับการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ปัจจุบัน ลาวมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 39 แห่ง และยังมีอีก 53 แห่งที่อยู่ในระหว่างการวางแผนที่จะสร้าง หรือสร้างไปแล้วบางส่วน โดยลาวส่งออกไฟฟ้าถึง 2 ใน 3 จากทั้งหมดที่ผลิตได้.