คาดเศรษฐกิจ.สิงคโปร์ไตรมาส 2 ชะลอตัว
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 2 จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากภาคการผลิตและภาคบริการที่ซบเซา
โดยตัวเลขนี้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 4% จากโพลล์ของรอยเตอร์ที่รวบรวมข้อมูลจากการประเมินของ 12 นักเศรษฐศาสตร์ และลดลงจากตัวเลขการเติบโตเดิมคือ 4.3% ในไตรมาสแรก
จากการเปรียบเทียบกันต่อไตรมาสบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เศรษฐกิจของสิงคโปร์ชะลอตัวลง 1% ในช่วงไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย. ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้คือ 1.2% ในผลสำรวจของรอยเตอร์ นอกจากนี้ ยังต่ำกว่าตัวเลขการเติบโต 1.5% ของไตรมาสแรกอีกด้วย
ในไตรมาส 2 ภาคการผลิตขยายตัวเติบโต 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 9.7% ไนไตรมาสแรก ทาง MTI ระบุว่า สินค้าหลายกลุ่มในภาคการผลิตขยายตัวเติบโตในไตรมาสนี้ โดยมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ การผลิตชีวการแพทย์ที่เติบโตสูงสุด
เมื่อเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาส มาร์จิ้นของภาคการผลิตหดตัวลง 0.1% ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับไตรมาสแรกที่มีการเติบโตถึง 21.3%
ขณะที่ภาคบริการ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจมีการเติบโต 2.5% ฟื้นตัวขึ้นจากการหดตัวในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.4%
นอกจากนี้ ภาคก่อสร้างมีการหดตัวถึง 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนยังซบเซา แต่ยังดีกว่าไตรมาสแรกที่หดตัวถึง 5.2%
เดือนพ.ค. MTI ลดตัวเลขคาดการร์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.5% – 3.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ย้ำเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ แม้จะมีอุปสรรคจากความตึงเครียดทางการค้าของสองชาติมหาอำนาจก็ตาม
ก่อนหน้านั้นในเดือนเม.ย. ธนาคารกลางประกาศจะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
เมื่อประเมินถึงสถานการณ์ข้างหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัวลงยิ่งขึ้น
ผลกระทบต่อสิงคโปร์มาจากความเสี่ยงด้านซัพพลายเชน จากความเห็นของ Jeff Ng หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Continuum Economics
“ สิงคโปร์ผูกติดกับซัพพลายเชนทั่วโลกและทั่วภูมิภาค ถ้าจีนหรือสหรัฐฯนำเข้าลดลง 10% จะลดตัวเลขการส่งออกของสิงคโปร์ลงประมาณ 1-2% ซึ่งจะส่งผลกับทั้งการส่งออกสินค้าในประเทศ และการนำเข้ามาเพื่อส่งออก ( re-export)”
นอกจากนี้ มาตรการลดความร้อนแรงในอสังหาริมทรัพย์อาจเป็นการจำกัดการเติบโตในประเทศในระยะสั้นอีกด้วย เขากล่าว
MTI ระบุว่าการประเมินตัวเลขจีดีพีล่วงหน้าจากการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส (เม.ย.-พ.ค.) ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้การเติบโตของจีดีพีในไตรมาส และมีการปรับแก้เมื่อมีข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น
โดยทาง MTI จะรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ในเดือนส.ค.ซึ่งจะรวมถึงผลประกอบการในหลายภาคส่วน แหล่งที่มาของการเติบโต เงินเฟ้อ การจ้างงาน และผลผลิต.