บาหลีปิดสนามบินหลังภูเขาไฟปะทุ
บาหลีปิดทำการสนามบินนานาชาติหลังภูเขาไฟปะทุบนเกาะ ทำให้มีควันหนาทึบและเถ้ากระจายฟุ้งไปในอากาศ ทางการอินโดนีเซียรายงานเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.
สนามบิน Ngurah Rai ถูกสั่งปิดทำการในเวลา 03.00 น.ถึงเวลา 19.00 น.ในวันที่ 29 มิ.ย. หลังรายงานนักบินตรวจเจอเถ้าถ่านจากภูเขาไฟที่ลอยสูงถึง 23,000 ฟุต หลังภูเขาไฟอากุงปะทุเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เถ้าภูเขาไฟจะปลิวลอยมาถึงสนามบินในเช้าวันที่ 29 มิ.ย.นี้” Yanus Suprayogi ระบุในแถลงการณ์ โดยเสริมว่า อาจมีการพิจารณาขยายเวลาปิดทำการสนามบินหลังเวลา 19.00 น.ออกไปอีก
การปะทุของภูเขาไฟอากุง ทางตะวันออกของบาหลีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ส่งผลทำให้ต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างน้อย 48 เที่ยวบิน รวมทั้งเที่ยวบินของแอร์เอเชียของมาเลเซียและเจ็ทสตาร์ของออสเตรเลีย ส่งผลกระทบกับนักเดินทางมากกว่า 8,000 คน
ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ต้องมีการปรับเปลี่ยนเที่ยวบินที่บินระหว่างสิงคโปร์กับเดนปาซาร์ โดยผู้โดยสารของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เดินทางไปบาหลีระหว่างวันที่ 28 – 29 มิ.ย.อาจต้องจองตั๋วโดยสารใหม่ หรือขอเงินค่าตั๋วโดยสารคืน สายการบินโพสต์ระบุบนเพจเฟซบุ๊ก
เถ้าภูเขาไฟเป็นอันตรายกับเครื่องบิน เนื่องจากทำให้รันเวย์ลื่น และอาจเข้าไปติดอยู่ในเครื่องยนต์ของเครื่องบินได้
แม้จะไม่มีการยกระดับสถานะการปะทุของภูเขาไฟจากสำนักงานภูเขาไฟอินโดนีเซีย และยังคงเตือนภัยระดับเดิม แต่ทางหอสังเกตการณ์ภูเขาไฟสำหรับการบินได้ออกประกาศเตือนภัยในระดับสีส้ม
ภูเขาไฟอากุงฟื้นคืนกลับมามีชีวิตอีกครั้งในปีก่อน และมีการปะทุยาวนานมาตั้งแต่นั้น
โดยการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเดือนพ.ย. ทำให้เกิดความวุ่นวายและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในวงกว้าง
ทั้งนี้ ยังมีการกำหนดพื้นที่ห้ามเข้า 4 ก.ม.รอบภูเขาไฟอากุงอีกด้วย
โดยการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดของภูเขาไฟอากุงเกิดขึ้นในปี 2506 และทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,600 ราย
อินโดนีเซียเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่มากที่สุดในโลก และตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟซึ่งเปลือกโลกชนกัน ทำให้ภูเขาไฟเกิดการปะทุและเกิดเหตุแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง
แต่สนามบินนานาชาติ Lombok ในมาตารัม จังหวัดเวสต์นูซา เต็งการา ยังคงเปิดทำการตามปกติ แม้จะมีการยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปะทุของภูเขาไฟอากุงในบาหลีก็ตาม
แต่ทีมเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยจะเฝ้าระวังสถานการณ์ของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง“ไม่เพียงเท่านี้ เราจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุตุฯและสำนักธรณีฟิสิกส์” Gusti Ngurah Ardita ผู้จัดการทั่วไปของสนามบิน Lombok กล่าว