เมียนมาให้ยูเอ็นเข้ารัฐยะไข่ได้
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.สหประชาชาติระบุว่า รัฐบาลเมียนมาตกลงที่จะให้ทางยูเอ็นเข้าถึงรัฐยะไข่ที่เกิดวิกฤตนานหลายเดือนเพื่อตรวจสอบการส่งคืนผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญานับแสนคนกลับเมียนมา
รัฐยะไข่ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาถูกปิดหลังกองทัพเมียนมามีการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงในปีที่แล้ว ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยไปประมาณ 700,000 คน โดยพวกเขาอพยพข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งยูเอ็นและสหรัฐฯ เรียกการปราบปรามของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ว่า เป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่กองทัพแย้งว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา
โดยเมียนมาและบังคลาเทศได้ลงนามในข้อตกลงการส่งคืนผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาในเดือนพ.ย.ปี 2560 แต่จนถึงตอนนี้ มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนนับสิบคนเท่านั้นที่เดินทางกลับมา เนื่องจากชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะกลับ นอกจากจะได้รับการการันตีเรื่องความปลอดภัยและสิทธิการเป็นพลเมืองของเมียนมา
ทางยูเอ็นระบุว่าสภาพในรัฐยะไข่ยังคงไม่สุกงอมพอที่จะให้ผู้ลี้ภัยที่อพยพกลับมามีความปลอดภัย แต่ร่างข้อตกลงในวันที่ 31 พ.ค.อนุญาตให้หน่วยงานของยูเอ็นสามารถเข้าถึงรัฐยะไข่ได้ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “ ที่อยู่ดั้งเดิมและพื้นที่ที่มีศักยภาพในการอยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปหลังจากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว”
การเข้าถึงจะทำให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR สามารถประเมินพื้นที่และขับเคลื่อนกิจกรรมป้องกันได้ ทางยูเอ็นชี้แจง โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมียนมาเคยระบุว่า พร้อมที่จะรับชาวโรฮิงญากลับคืนและเคยโต้แย้งกับทางบังคลาเทศเกี่ยวกับประเด็นว่าใครที่ทำให้เรื่องนี้ล่าช้า
แต่นักวิจารณ์ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงใจและการทำข้อตกลงใหม่
ร่างข้อตกลงนี้เป็นโอกาสที่จะช่วยสกัดผลร้ายที่ตามมาของการยืนกรานปฏิเสธจากรัฐบาลเมียนมาไม่ให้หน่วยงานของยูเอ็นเข้าถึง Rich Weir นักวิจัยของ Human Rights Watch ประจำเมียนมากล่าว
“แต่ข้อตกลงจะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษที่เขียนไว้ หากรัฐบาลเมียนมาแสดงให้เห็นผ่านการกระทำว่ามีเจตนาจะเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระในรัฐยะไข่”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังแถลงอีกว่า จะจัดการให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประเด็นที่เกี่ยวข้องหลังการก่อการร้ายโจมตีของกลุ่ม ARSA ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่เริ่มเปิดฉากโจมตีและสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนในเดือนส.ค. ปีก่อนนับสิบคน
โดยทางกองทัพใช้ปฏิบัติการนี้เป็นข้ออ้างในการเริ่มปราบปรามอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ในเวลาต่อมา
ที่ผ่านมา เมียนมาปฏิเสธที่จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเข้าไปปฏิบัติภารกิจสืบค้นหาความจริงในรัฐยะไข่ และห้ามไม่ให้ อียางฮี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเดินทางเข้าประเทศ และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ว่าทางกองทัพกระทำการอย่างโหดเหี้ยมทารุณในรัฐยะไข่
นอกจากนี้ยังปฏิเสธท่าทีความพยายามจากศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อสอบสวนวิกฤตในครั้งนี้ โดยระบุว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสินคดีนี้
Christine Burgener ทูตสหรัฐฯประจำเมียนมาคนใหม่มีกำหนดจะเดินทางไปเมียนมาในเดือนมิ.ย.เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา หลังการเยือนของคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นเสร็จสิ้นแล้ว.