เด็กโรฮิงญาที่แม่ถูกข่มขืนเริ่มคลอด
ในจำนวนชาวโรฮิงญาที่อพยพลี้ภัยจากรัฐยะไข่ในเมียนมาไปบังคลาเทศจำนวนหลายแสนคนเมื่อปีที่แล้ว มีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนโดยทหารเมียนมาและชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธในท้องถิ่นนับหมื่นคน
ทำให้เดือนพ.ค.เป็นกำหนดคลอดของเด็กๆที่เกิดจากแม่ที่ถูกข่มขืน องค์กรช่วยเหลือเด็กและสตรีเตรียมพร้อมรับสถานการณ์คับขัน โดยคาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีทารกเกิดใหม่จำนวนมากในค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศ
องค์การ Save the Children ระบุว่า ทางหน่วยงานคาดการณ์ว่าจะมีทารกที่ถูกแม่คลอดแล้วทิ้งเพิ่มจำนวนขึ้นในเดือนมิ.ย. ขณะที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งดำเนินการโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยที่ Cox’s Bazar กำลังเตรียมการให้คำปรึกษาเยียวยาแม่ที่สภาพจิตใจย่ำแย่จากการถูกข่มขืน
“พวกเธออาจรู้สึกว่า ไม่สามารถดูแลทารกที่เกิดจากการถูกข่มขืนได้ เด็กที่เกิดจากคนที่พวกเธอเกลียด หลายคนเป็นแม่ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ พวกเธอยังถูกกดดันจากสังคมของชาวโรฮิงญาอีกด้วย”
สำหรับบางคน นี่ไม่ใช่การมีลูกคนแรก มีกรณีของ Ayesha Akhtar (นามสมมุติ) หญิงชาวโรฮิงญาคนหนึ่ง ที่ถูกทหารเมียนมา 3 นายบุกเข้ามาในบ้านของเธอ ขู่จะยิงลูกของเธอ และข่มขืนเธอ
เหตุสะเทือนขวัญในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนทั่วรัฐยะไข่ จากการที่ทหารเมียนมาเริ่มเข้าปราบปรามหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาอย่างทารุณตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2559
โดย Ayesha แม่ของลูก 5 คน ซึ่งสามีของเธอเสียชีวิตในปี 2555 กล่าวว่า การกระทำที่โหดร้ายของทหารเมียนมา ทำให้ชีวิตของเธอย่ำแย่ เพื่อนบ้านของเธอไม่ยอมรับเธออีกต่อไป
“ทุกคนรู้ว่า ทหารจะข่มขืนผู้หญิง ถ้าพวกเขาบุกเข้ามาในหมู่บ้านของพวกเรา” เธอให้ข้อมูลกับสื่อในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดใน Balukhali เนื่องจากมีผู้อพยพมาอยู่ที่นี่มากขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว
“การขอความช่วยเหลือเพื่อทำแท้งเป็นเรื่องยากสำหรับหญิงหม้ายในสังคมของเรา ฉันจึงเลิกหาวิธีที่จะกำจัดเด็กและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นความเมตตาของพระอัลเลาะห์” เธอกล่าว
ในเดือนส.ค.ปี 2560 เมื่อเธอมีอายุครรภ์ 5 เดือน ทหารเมียนมาบุกเข้าปราบปรามในพื้นที่ของเธออีกครั้ง ทำให้มีผู้ลี้ภัยอพยพไปบังคลาเทศเกือบ 700,000 คน เธอเองเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อมาถึงค่ายผู้ลี้ภัย เธอพยายามหาวิธียุติการตั้งครรภ์อีก แต่ช้าเกินไป บังคลาเทศมีกฎหมายห้ามการทำแท้งหลัง 3 เดือนแรก แพทย์เตือนเธอว่า การทำแท้งผิดกฎหมายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
“ฉันมีลูกเล็กๆอีกหลายคน ฉันจึงเลือกที่จะไม่เสี่ยง” เธอกล่าว
Ayesha ให้กำเนิดทารกที่เกิดจากการถูกข่มขืนเมื่อวันที่ 26 ม.ค. เป็นทารกเพศชายชื่อ Fayaz (นามสมมุติ) ที่แข็งแรง เธอบอกว่า ลูกเธอร่าเริงอารมณ์ดีมาก แต่การเกิดมาของเขาสร้างรอยร้าวให้ครอบครัว ในตอนแรก ลูกสาวของเธอสองคนไม่ยอมรับน้องคนนี้ว่าเป็นน้องชายแท้ๆ และพยายามบอกเธอให้ยกเด็กคนนี้ให้คนอื่นอุปการะ แต่หลังจากเธอพูดคุยกับลูกสาวบ่อยครั้งว่า เธอถูกข่มขืน และไม่มีเหตุผลที่จะต้องอายหรือละอายใจ หลังจากนั้น ลูกๆก็เข้าใจเธอ และเล่นกับน้องคนใหม่มากขึ้น “บางทีพวกเธออาจรักน้องคนนี้แล้ว” เธอกล่าว
ไม่มีใครรู้จำนวนที่แท้จริงของผู้หญิงชาวโรอิงญาที่ถูกข่มขืนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย โดย MSF รายงานว่า ให้การรักษาเหยื่อที่ถูกทารุณทางเพศไปแล้ว 224 รายจนถึงวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือนม.ค.มีผู้หญิงจำนวนมากมาที่โรงพยาบาลด้วยอาการตกเลือด เนื่องจากพวกเธอพยายามที่จะทำแท้งด้วยตัวเอง
จากผลสำรวจของ Human Rights Watch ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ประเมินว่า มีผู้หญิงชาวโรฮิงญาถึง 2 ใน 3 ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในเมียนมาและไม่มีการรายงานต่อทางการ หรือองค์กรช่วยเหลือในบังคลาเทศ
Ko Ko Linn นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศกล่าวว่า ทารกที่เกิดมาในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรมีตราบาปใดๆ
“ทารกกลุ่มนี้เกิดจากแม่ชาวโรฮิงญาที่ต้องอดทนอุ้มท้องนาน 9 เดือน อดทนต่อความเจ็บปวดทรมานมากมาย พวกเขาเป็นลูกชายและลูกสาวของชาวโรฮิงญา”.