อินโดฯ จี้ FB ตอบเรื่องใช้ประโยชน์จากข้อมูล
อินโดนีเซียให้เวลาเฟซบุ๊ก 1 สัปดาห์เพื่อให้ข้อมูลมากขึ้นเรื่องการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดจากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในอินโดนีเซียประมาณ 1 ล้านคน และมาตรการจากบริษัทที่จะป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลซ้ำอีก อ้างอิงจากรายงานของกระทรวงสื่อสารของอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากกว่า 115 ล้านบัญชี และทางภาครัฐมีการกดดันเฟซบุ๊กให้อธิบายว่า ทำไมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจึงถูกบริษัทที่ปรึกษาการเมือง Cambridge Analytica นำไปใช้ประโยชน์ผ่านการตอบคำถามส่วนตัว
เฟซบุ๊กได้ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการต่อผู้ใช้งานในอินโดนีเซียในสภาสัปดาห์นี้ในการทำประชาพิจารณ์ โดยบริษัทระบุว่า ข้อมูลของผู้ใช้งาน 1,096,666 คนอาจรั่วไหลและถูกแชร์ไป คิดเป็น 1.26% ของจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก
ในแถลงการณ์ที่มีการเผยแพร่เมื่อเย็นวันที่ 19 เม.ย. กระทรวงระบุว่า ได้ส่งจดหมายไปที่เฟซบุ๊ก ไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศของบริษัท เพื่อทวงถามขอคำตอบจากจดหมายลงวันที่ 10 เม.ย.ของทางกระทรวงเรื่องการปกป้องข้อมูลของบริษัท
โดยทางกระทรวงได้ร้องขอรายละเอียดและเอกสารของการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้รับการยินยอม หรือการแชร์ข้อมูลไปให้บุคคลที่ 3 เช่น CubeYou และ Aggregate IQ
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าได้ระงับการใช้งานของ Aggregate IQ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการเมืองของแคนาดาจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กแล้ว หลังจากมีรายงานว่า บริษัทอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอย่างไม่ถูกต้อง
อ้างอิงจากการรายงานของสื่อ CNBC เฟซบุ๊กยังได้ระงับการใช้งานของ CubeYou ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการสืบสวนว่า บริษัทนี้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานผ่านการตอบคำถามได้อย่างไร
กระทรวงสื่อสารของอินโดฯ ยังได้สอบถามถึงมาตรการทางเทคนิคที่จะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในเฟซบุ๊ก และข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจสอบของบริษัทในการแชร์ข้อมูล โดยในแถลงการณ์ของกระทรวงระบุว่า เฟซบุ๊กต้องตอบกลับคำร้องขอของกระทรวงภายใน 7 วันจากวันที่ส่งจดหมายออกไปในวันที่ 19 เม.ย. ทั้งนี้ ทางเฟซบุ๊กยังไม่มีความเห็นออกมาต่อกรณีนี้ในวันที่ 20 เม.ย.
เมื่อต้นสัปดาห์ เฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทให้คำมั่นที่จะปรับปรุงวิธีการในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน และจะจัดหาวิธีการที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับชาวอินโดนีเซียมากกว่า115 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก
บริษัทระบุว่า กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรับมือกับการละเมิดที่ผ่านมา จะป้องกันการละเมิดในอนาคต และทำให้ผู้ใช้งานควบคุมความเป็นส่วนตัวได้ และบริษัทให้คำมั่นจะจัดหามาตรการที่อัพเดทให้ทั้งชาวอินโดนีเซีย ผู้แทนของพวกเขาในสภา ทางการและสื่อ
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กต้องเผชิญกับการสอบสวนจากประเทศอื่นๆด้วย เช่น ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย จากกรณีฉาวที่ข้อมูลรั่วไหลไปอยู่ในมือของ Cambridge Analytica.