โรฮิงญาครอบครัวแรกกลับเมียนมา
รัฐบาลเมียนมาระบุว่า ได้ส่งครอบครัวแรกของผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาคืนกลับมาที่เมียนมา จากผู้ลี้ภัยทั้งหมด 700,000 คนที่อพยพหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ แต่กลุ่มสิทธิยังคงเตือนถึงความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางกลับมา
ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องอพยพข้ามพรมแดนไปอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศตั้งแต่กองทัพเมียนมาปฏิบัติการปราบปรามอย่างโหดร้ายในรัฐยะไข่เมื่อเดือนส.ค. ปีที่แล้ว
สหประชาชาติระบุว่า การปราบปรามครั้งนี้ของเมียนมาถือเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ แต่เมียนมาปฏิเสธ โดยบอกเพียงแต่ว่า ทหารเมียนมาตั้งเป้าปราบปรามเฉพาะกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเท่านั้น
มีการโพสต์แถลงการณ์ของรัฐบาลเมียนมาในช่วงบ่ายวันที่ 14 เม.ย.โดยระบุว่า ครอบครัวแรกของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจะเป็นครอบครัวแรกที่มาถึงศูนย์รับรองที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในวันนี้
“ ครอบครัวนี้มีสมาชิก 5 คน เดินทางกลับมาจากค่ายผู้ลี้ภัยมาถึงเมือง Taungpyoletwei ในรัฐยะไข่” อ้างอิงจากแถลงการณ์บนเพจเฟซบุ๊กทางการของคณะกรรมการสารสนเทศ
ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว โดยต้องอาศัยอยู่กันอย่างแออัดในเต็นท์ที่กำหนดเขตคร่าวๆตามแนวชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ ผู้นำชาวโรฮิงญาในค่ายยืนยันถึงการกลับเมียนมาของครอบครัวแรกของชาวโรฮิงญาเช่นกัน
อ้างอิงจากแถลงการณ์ของเมียนมา ทางหน่วยตรวจคนเข้าเมืองจะจัดหาบัตรแสดงตนให้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ไม่เหมือนบัตรประจำตัวประชาชนและกลุ่มผู้นำชาวโรฮิงญาที่ต้องการสิทธิความเป็นพลเมืองออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับ
มีการโพสต์รูปประกอบคำแถลงการณ์ที่แสดงให้เห็นชายหนึ่งคน หญิง 2 คน เด็กหญิงวัยรุ่นและเด็กชายกำลังรับบัตรประจำตัวและเข้ารับการตรวจสุขภาพ
มีการส่งครอบครัวนี้ไปอาศัยอยู่กับญาติเป็นการชั่วคราวในเมือง Maungdaw หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการส่งคืนเรียบร้อยแล้ว โดยในโพสต์ไม่ได้ระบุถึงแผนที่จะส่งผู้ลี้ภัยคนอื่นๆกลับสู่เมียนมาในอนาคต
มีความเคลื่อนไหวจากทางเมียนมาแม้จะมีคำเตือนจากทางสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิว่าการส่งคืนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาจเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป
โดยทางยูเอ็นยืนยันว่ามีงานอีกมากที่จำเป็นต้องทำก่อนที่การส่งคืนผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาจะมีความปลอดภัยและสง่างาม รวมทั้งประเด็นสำคัญเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพ การยึดเหนี่ยวทางสังคม วิถีชีวิตและการเข้าถึงบริการต่างๆ
Andrea Giorgetta จาก สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลไม่พอใจการประกาศส่งคืนชาวโรฮิงญาและวิจารณ์ว่า เป็นวิธีการประชาสัมพันธ์ของเมียนมาเพื่อพยายามจะเบนความสนใจออกจากประเด็นการฆาตกรรมในรัฐยะไข่
ทั้งนี้ ชาวพุทธซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในเมียนมาไม่ยอมรับชาวโรฮิงญา พวกเขาถูกเรียกขานว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพชาวเบงกาลีที่เดินทางมาจากบังคลาเทศ ถึงแม้พวกเขาจะอาศัยอยู่มานานในรัฐยะไข่ก็ตาม.