จำคุกทหารเมียนมาสังหารโรฮิงญา
ทหารชาวเมียนมา 7 นายถูกตัดสินจำคุกจากการวิสามัญชายชาวโรฮิงญา 10 คนในปีที่แล้ว อ้างอิงจากโพสต์บนเฟซบุ๊กของผู้บัญชาการทหารเมื่อวันที่ 10 เม.ย.
เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. เป็นเหตุการณ์เดียวที่กองทัพยอมรับในระหว่างการปราบปรามอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนต้องอพยพหนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2560
นักข่าว 2 คนจากสื่อรอยเตอร์ ซึ่งเป็นชาวเมียนมาชื่อ Wa Lone วัย 31 ปี และ Kyaw Soe วัย 27 ปี ซึ่งกำลังทำข่าวสืบสวนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วที่นครย่างกุ้งพร้อมเอกสารที่เป็นความลับซึ่งอาจส่งผลให้ทั้งสองคนได้รับโทษจำคุกถึง 14 ปี หากพบว่ากระทำความผิดจริง
หลังถูกควบคุมตัวนานหนึ่งเดือน กองทัพออกแถลงการณ์ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวข้องกับการสังหารและจะจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมารับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาย้ำว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงการกระทำความผิดของพวกเขา
“เจ้าหน้าที่ 4 นายถูกให้ออกจากกองทัพและรับโทษจำคุกเป็นนักโทษทำงานหนักเป็นเวลา 10 ปี และอีก 3 นาย ถูกจำคุก 10 ปี เป็นนักโทษทำงานหนักในข้อหาฆาตกรรม” นายพลอาวุโส Min Aung Hlaing โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กของกองทัพ
การจับกุม 2 นักข่าวจากรอยเตอร์ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในระดับนานาชาติอย่างรุนแรง และพวกเขารอที่จะได้ยินว่า ศาลจะยกคำร้องของทั้งสองคนในวันที่ 11 เม.ย.นี้
สกู๊ปข่าวของพวกเขา ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และญาติของผู้ที่ถูกสังหาร ต่างบรรยายว่าทหารเมียนมาและชาวพุทธร่วมกันสังหารชายชาวโรฮิงญา 10 คนก่อนที่จะผลักศพลงไปในหลุมฝังขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงภาพของกลุ่มเหยื่อ ที่ถูกมัดมือและคุกเข่าอยู่บนพื้นก่อนถูกสังหาร และศพของพวกเขาที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ นางอองซาน ซูจี ผู้นำของเมียนมาออกมาขานรับการยอมรับของกองทัพว่า เป็นขั้นตอนที่ดี
ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารปกครองเมียนมาและมีการละเมิดสิทธิประชาชนมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี หลายคนหวังว่า รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและเป็นประชาธิปไตยของนางซูจีจะทำให้กองทัพลดบทบาทลง แต่จากการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงทำให้ความหวังเหล่านั้นต้องสูญสิ้นไป
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ประเมินว่า มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 6,700 คน ที่ถูกสังหารในช่วงเดือนแรกของการปราบปรามของกองทัพเมียนมา
ทางการเมียนมาปฏิเสธคำกล่าวหาทั้งหมด โดยชี้แจงว่า การปราบปรามของกองทัพในรัฐยะไข่เป็นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา และกล่าวโทษสื่อต่างชาติและองค์กรช่วยเหลือต่างๆที่ให้ข้อมูลผิดๆ และมีอคติเข้าข้างชาวโรฮิงญา.