มาเลย์เตือนวิกฤตโรฮิงญาเป็นภัยภูมิภาค
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเตือนประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในเมียนมาอาจลุกลามกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค
ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพลี้ภัยจากรัฐยะไข่ในเมียนมาหลังจากทางกองทัพมีการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงเมื่อ 6 เดือนก่อนจนทำให้สหประชาชาติเรียกการปราบปรามอย่างรุนแรงนี้ว่า ‘การกวาดล้างเผ่าพันธุ์’
โดยเมียนมาปฏิเสธการกล่าวหาทั้งหมด โดยยืนยันว่า เป็นปฏิบัติการโต้ตอบกับการจู่โจมจากกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาในช่วงปลายเดือนส.ค.ปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักแห่งมาเลเซียแสดงความกังวลว่า ผู้คนที่สิ้นหวังและอพยพย้ายถิ่นฐานอาจไปสวามิภักดิ์กับกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอย่างกลุ่มก่อการร้ายจากรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS)
“เพราะชาวโรฮิงญาที่ทุกข์ทรมานและอพยพย้ายถิ่นฐานไปทั่วภูมิภาค สถานการณ์ในรัฐยะไข่และเมียนมาจึงไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงประเด็นในประเทศอีกต่อไป” เขากล่าว
“นอกจากนี้ ปัญหาไม่ควถูกมองในแง่มุมของมนุษยธรรมเท่านั้น เพราะมันมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นภัยความมั่นคงที่ร้ายแรงต่อภูมิภาคได้”
“รัฐยะไข่ที่มีผู้สิ้นหวังหลายพันคน คนที่มองไม่เห็นความหวังในอนาคตจะกลายเป็นฐานของการสร้างความคิดแบบหัวรุนแรง และกลายเป็นสมาชิกของดาอิซ (ISIS) และกลุ่มติดอาวุธอื่นที่เป็นเครือข่าย”
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. สหประชาชาติอนุมัติเงินช่วยเหลือเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31,4000 ล้านบาทเพื่อให้การช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่หนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
นายกฯนาจิบกล่าวว่า มาเลเซียพร้อมที่จะช่วยเหลือในการหาทางแก้ไขที่ยุติธรรมและยั่งยืน ขณะที่กระตุ้นให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสานความร่วมมือกันและทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อกำจัดภัยจากกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง
“เราต้องมีความระมัดระวัง และเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากรัฐอิสลามในอิรักและซีเรียทรุดตัวลง และถูกบังคับให้กลายเป็นกลุ่มใต้ดินและถือกำเนิดใหม่ที่ไหนสักแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤตซึ่งสามารถเติบโตและจัดการได้”
โดยผู้นำมาเลเซียชี้ไปที่กลุ่มติดอาวุธที่เคยยึดครองเมืองมาราวี ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในปี 2560 เหมือนเป็นคำเตือนว่าจะเกิดอะไรขึ้น
“เราต้องถอดบทเรียนจากเมืองมาราวี และควรให้ความสนใจ เนื่องจากมีกลุ่มก่อการร้ายอย่างน้อย 10 กลุ่มในเมืองมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่ประกาศว่า เป็นเครือข่ายของดาอิซ (ISIS)” เขากล่าว
ประเทศกลุ่มอาเซียนคือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทยและเวียดนาม โดยออสเตรเลียเป็นประเทศคู่เจรจาตั้งแต่ปี 2517
บรรดาผู้นำทุกประเทศต่างเข้าร่วมประชุมอาเซียน – ออสเตรเลีย ยกเว้นแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งกำลังถูกกดดันอย่างหนักในประเทศ.