พิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ ถอดรางวัลซูจี
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ว่า จะเพิกถอนรางวัลสิทธิมนุษยชนอันทรงเกียรติจากนางอองซาน ซูจี ผู้นำประเทศเมียนมา โดยกล่าวหาว่า เธอทำหน้าที่เพียงเล็กน้อยในการหยุดยั้งการล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา
นางซูจี ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2534 จากการที่เธอรณรงค์ต่อต้านเผด็จการทหารมานานในประเทศเมียนมา ได้รับรางวัล Elie Wiesel จากพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหรัฐฯเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องให้กับ ‘ ความเป็นผู้นำที่กล้าหาญและการอุทิศตนอย่างยิ่งใหญ่เพื่อต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ และคงไว้ซึ่งเสรีภาพและศักดิ์ศรีของชาวพม่า ’
แต่ทางพิพิธภัณฑ์ระบุว่า ขอเพิกถอนรางวัลจากการที่เธอไม่แสดงท่าทีตอบโต้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ หลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘ จากการกระทำของกองทัพเมียนมาต่อพลเมืองซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา
“ จากการที่กองทัพโจมตีชาวโรฮิงญาในปี 2559 – 2560 เราเคยหวังว่าคุณ ซึ่งเป็นบุคคลที่เราและคนอื่นๆยกย่องจากการกระทำเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนสากล จะกระทำบางอย่างเพื่อประณามและหยุดยั้งการกระทำที่โหดร้ายของกองทัพ และแสดงท่าทีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชากรชาวโรฮิงญาที่เป็นเป้าหมาย”
แทนที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องชาวโรฮิงญา แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของเธอ กลับปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สอบสวนจากสหประชาชาติ และยังใช้วาทกรรมต่อต้านชาวโรฮิงญาอีกด้วย
นอกจากนี้ พรรคการเมืองของเธอยังขัดขวางการทำงานของนักข่าวที่พยายามจะรายงานการสังหารหมู่ และการขับไล่ชาวโรฮิงญาไปบังคลาเทศ
“ การที่ทางกองทัพก่ออาชญากรรมกับชาวโรฮิงญา และความรุนแรงของการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนในช่วงหลายเดือน ต้องการให้คุณใช้อำนาจทางจริยธรรมที่มีอยู่เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์” ทางพิพิธภัณฑ์ระบุ
ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว รายงานที่จัดทำร่วมกันโดยพิพิธภัณฑ์และองค์กรเฝ้าระวัง Fortify Rights ที่มีฐานอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นฐานของการรวบรวมบทสัมภาษณ์คนที่อยู่ในพื้นที่ ชี้ชัดว่า มีการโจมตีชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ
รางวัลนี้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Elie Wiesel ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นาซีกระทำต่อชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอุทิศชีวิตหลังจากนั้นในการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยตัวเขาเองเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2529
ทั้งนี้ นางซูจี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยมานานหลายทศวรรษ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการที่เธอปฏิเสธที่จะยืนหยัดเพื่อชาวมุสลิมโรอิงญา
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา Bill Richardson นักการทูตสหรัฐฯ ขอลาออกจากคณะทำงานที่นางซูจีจัดตั้งขึ้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีกับชาวโรฮิงญา โดยถล่มเธอว่าเป็นผู้นำที่ขาดคุณธรรม
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนต้องอพยพลี้ภัยจากรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกองทัพเมียนมาปราบปรามอย่างทารุณ ทั้งฆ่า ข่มขืน และวางเผลิงเผาบ้านเรือนของพวกเขา
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ในนครเจนีวา Zeid Ra’ad Al Hussein หัวหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการเตรียมคำฟ้องร้องข้อหาฆาตกรรมในกรณีการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของเมียนมา.