คนโสดในอินโดฯ ถูกสังคมกดดัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติกลางชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนคนโสดมากขึ้นในรอบ 4 ทศวรรษ โดยการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2553 ชี้ว่า ประชากร 1 ใน 14 คน วัย 30 – 39 ปี ไม่เคยแต่งงาน ทางสำนักงานสถิติคาดการณ์ว่า จำนวนคนโสดจะเพิ่มขึ้นในการสำรวจครั้งหน้าในปี 2563
อ้างอิงจากข้อมูลของ Karel Karsten Himawan นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ในออสเตรเลีย เขาระบุในงานวิจัยว่า คนโสดส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียรู้สึกเจ็บปวดจากอิทธิพลของคนรอบข้าง
“จากผลการศึกษาเบื้องต้น คนโสด 9 ใน 10 รู้สึกกดดันจากพ่อแม่ ครอบครัวขยายและเพื่อนๆ” อ้างอิงจากข้อมูลของ Karel บนเว็บไซต์ Kompass.com ในบริสเบน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา
โดย Karel ชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับคนโสดที่อาจก่อให้เกิดแรงกดดัน ข้อแรกเลยคือ ผู้คนมักจะเข้าใจกันทั่วไปว่า พวกเขามีปัญหากับการแต่งงาน แต่ในกรณีของคนโสด มักจะเชื่อว่าตัวเอง (ทั้งหญิงโสดและชายโสด) ต่างหากที่มีปัญหา
ข้อที่ 2 คือ สาวโสดจะถูกสังคมโจมตีมากกว่าชายโสด โดยคำว่า jomblo ในภาษาบาฮาซาแปลว่า คนโสด ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก jomlo ซึ่งแปลว่า สาวโสด อ้างอิงจากพจนานุกรม Great Dictionary of the Indonesian Language
“ในอีกด้านหนึ่ง ชายที่ไม่แต่งงาน วัย 30 ปีและมากกว่า มักจะมองในแง่บวกว่า พวกเขากำลังเตรียมพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว” Karel กล่าว
ในงานวิจัยของเขา Karel พบข้อสรุปว่า การเป็นคนโสดไม่ใช่ทางเลือกชีวิต โดยข้อมูลชี้ว่า คนโสดส่วนใหญ่ในอินโดฯ หรือ 83.2% มีทัศนคติในแง่บวกกับการแต่งงาน
“แรงจูงใจที่จะทำให้แต่งงาน ไม่ใช่แค่ถูกสังคมกดดันเท่านั้น” เขาอธิบาย โดยเสริมถึงปัจจัยแท้จริงที่ทำให้จำนวนคนโสดเพิ่มขึ้นในอินโดฯ โดยเฉพาะคนโสดแบบไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ตัว
อีกหนึ่งปัจจัยคือ ประเพณีของการแต่งงานกับผู้ที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่า ซึ่งมักหมายถึงฝ่ายชายควรมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่าฝ่ายหญิง อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมัยใหม่และความเท่าเทียมกันทางสังคม ทำให้ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงเพิ่มจำนวนขึ้นมาก
โดยการวิจัยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติในปี 2559 จำนวนผู้หญิงที่เรียนจบมัธยมมากกว่าผู้ชาย เพิ่มขึ้น 2.03% นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงระดับปริญญาตรี มีจำนวนมากกว่าผู้ชาย 0.35% และในรอบ 15 ปีล่าสุด จำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น 9.5 % มากกว่าผู้ชาย
ทั้งนี้ Karel กล่าวว่า การขาดคู่ครองที่เหมาะสม ไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะอยู่เป็นโสด โดยไม่ได้เอ่ยถึงการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2553 ที่เผยว่า จำนวนชายและหญิง ในวัย 20 ปีและมากกว่านั้นสมดุล โดยผู้หญิงมีสัดส่วน 50.24% จากจำนวนประชากรทั้งหมดของอินโดฯ.