รัฐบาลปินส์ช่วยแรงงานกลับจากคูเวต
คาดการณ์ว่า แรงงานฟิลิปปินส์ประมาณ 10,000 คนในคูเวตจะรับข้อเสนอของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะจัดเครื่องบินมารับกลับประเทศฟรีหลังจากมีการพบศพแรงงานหญิงอยู่ในช่องแช่แข็งในตู้เย็น
รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตมีคำสั่งห้ามแรงงานฟิลิปปินส์ไปทำงานที่คูเวต หลังจากมีแรงงานหญิงจำนวนมากเสียชีวิต รวมทั้งแรงงานหญิงรายล่าสุด วัย 29 ปีที่ชื่อโจอันนา เดมาเฟลิส โดยศพของเธอถูกพบอยู่ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นที่บ้านนายจ้างของเธอเมื่อวันที่ 14 ก.พ . ซึ่งทางการเชื่อว่า ศพของเธอน่าจะถูกแช่แข็งมานานถึงหนึ่งปีแล้ว
โดยข้อเสนอรับแรงงานฟิลิปปินส์กลับบ้านฟรีได้ถูกขยายจำนวนเป็น 10,000 คน โดยแรงงานเหล่านี้อยู่เกินกำหนดของวีซ่าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
“ ผมจะขายวิญญาณของผมให้ปีศาจเพื่อเงิน ดังนั้นคุณกลับบ้านได้และอยู่ให้สบายที่นี่ ” ประธานาธิบดีดูเตอร์เตกล่าวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดยผู้นำฟิลิปปินส์ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาจะใช้มาตรการที่รุนแรงเพื่อปกป้องไม่ให้แรงงานไปทำงานต่างประเทศ
ฝ่ายสวัสดิการแรงงานต่างประเทศกล่าวกับสื่อ CNN ว่า ในวันที่ 14 ก.พ.มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 900 คนที่เดินทางกลับบ้านด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำของรัฐบาล
Silvestre Bello III รัฐมนตรีแรงงานกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ว่า แรงงานฟิลิปปินส์นับพันเดินทางกลับจากคูเวต โดยไปรวมตัวกันที่สถานทูตฟิลิปปินส์ในคูเวตเมื่อวันที่ 29 ม.ค.เพื่อเป็นการเริ่มต้นกระบวนการส่งคืนแรงงานกลับบ้านกับรัฐบาลคูเวต มีการประเมินว่า จนถึงตอนนี้ มีมากกว่า 2,200 คนที่มีเอกสารเดินทาง
“ พวกเขาจะกลับบ้านโดยไม่มีอะไรนอกจากเรื่องเศร้าว่า ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีเพื่อคนที่รักต้องแตกสลายไป จากการถูกใช้ประโยชน์และถูกทารุณกรรม พวกเขาเป็นกลุ่มแรกของแรงงานนับพันที่มองข้ามข้อเรียกร้องของท่านประธานาธิบดีให้พวกเขากลับบ้าน เพื่อหนีจากการปฏิบัติที่เลวร้ายในต่างประเทศ ” อลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ คูเวตเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากแรงงานฟิลิปปินส์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศคูเวตกล่าวว่า มีแรงงานฟิลิปปินส์ 276,000 คนที่ทำงานอยู่ในคูเวตในเดือนม.ค. อ้างอิงจากสำนักงานสถิติของฟิลิปปินส์ มีชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศมากกว่า 2.2 ล้านคนในปี 2559 โดยมี 6.4% ที่ทำงานในคูเวต
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีดูเตอร์เตระบุว่า เขามีแผนจะไปเยือนคูเวตและยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา
“ เราไม่ได้มองหาการดูแลปฏิบัติเป็นพิเศษ หรือมีอภิสิทธิ์สำหรับแรงงานของเรา แต่เราคาดหวังถึงความเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพวกเขา ” ดูเตอร์เตกล่าวเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
“ ถึงรัฐบาลคูเวตและประเทศอื่นๆที่แรงงานของเราทำงานอยู่ เรามองหาและคาดหวังถึงความช่วยเหลือในประเด็นนี้ ”
ทั้งนี้ เดมาเฟลิส เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายล่าสุดขาดการติดต่อกับครอบครัวตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2560 หลังจากเธอเดินทางมาทำงานที่ตะวันออกกลางได้ 2 ปี เธอไม่เคยพูดถึงอะไรที่ไม่ดีของนายจ้าง เพียงแต่ระแวงว่าเธออาจถูกจับตาดูอยู่ โดยเธอสามารถพูดคุยกับครอบครัวได้เพียง 3 ครั้งต่อปี
ในการคุยโทรศัพท์ครั้งสุดท้าย เธอกล่าวว่า เธอมีแผนจะเดินทางกลับบ้านในปีนี้ แต่หลังจากไม่ได้ข่าวคราวของเธอเกือบปี ครอบครัวของเธอจึงแจ้งความคนหาย พี่สาวของเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNN ฟิลิปปินส์
ตำรวจไม่พบศพของเธอ จนกระทั่งมีการจับตามองนายจ้างชาวเลบานอนของเธอที่ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเช็ค มีการพบศพของเธอเมื่อวันที่ 14 ก.พ.และมีร่องรอยว่าเธอถูกรัดคอจนเสียชีวิต
มีคดีที่เกี่ยวกับการทำร้ายแรงงานและแม่บ้านมากขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออก กลุ่ม Human Rights Watch กล่าวหาการ์ตาว่ามีการใช้แรงงานอพยพให้ก่อสร้างสนามกีฬาอย่างเร่งรีบเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ขณะที่มีกรณีทำร้ายแม่บ้านอย่างทารุณหลายรายในสิงคโปร์ และย้อนหลังไปในปี 2559 มีรายงานว่า แม่บ้านต่างชาตินับพันคนต้องถูกใช้งานและมีความเป็นอยู่ในสภาพเยี่ยงทาสในฮ่องกง.