ศาลโลกอาจสอบสวนดูเตอร์เต
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์กำลังจับตามองประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ในกรณีการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อ้างอิงจากถ้อยแถลงของโฆษกของเขา
Harry Roque กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.สำนักงานอัยการของศาลโลก แจ้งมาที่ฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการว่า กำลังทำการสอบถามเบื้องต้นเพื่อการสอบสวนในส่วนที่จำเป็น
“ ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า เขายินดีและพร้อมรับการตรวจสอบเบื้องต้น เพราะเขากำลังป่วยและเหนื่อยจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ” Roque กล่าว
ผู้นำฟิลิปปินส์มองว่าการตรวจสอบของศาลโลก เป็นโอกาสที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหาที่มีต่อเขา Roque กล่าวโดยเสริมว่า ความเคลื่อนไหวของศาลโลกเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร เป็นประเด็นที่ถูกผลักดันโดยศัตรูของประธานาธิบดีเพื่อทำให้เขาอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียง
ศาลโลกจะสอบสวนและรับประกันว่า จะพยายามตั้งข้อหากับผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความกังวลต่อประชาคมนานาชาติ ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง อ้างอิงจากเว็บไซต์ของศาลโลก
กลุ่มสิทธิกล่าวหาประธานาธิบดีดูเตอร์เตมานานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปฏิบัติการปราบปรามการค้ายาเสพติด ซึ่งองค์กร Human Rights Watch ประเมินว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 คนตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2559 เป็นต้นมา อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลฟิลิปปินส์ มีผู้ถูกสังหารประมาณ 3,900 รายในสงครามปราบยาเสพติด
องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในเดือนต.ค.ปี 2560 ว่า แนวคิดการปฏิบัติงานของตำรวจและการกระทำวิสามัญฆาตกรรมอาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิเตือนว่า ตำรวจได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ และมีการคุ้มครองให้ไม่ต้องถูกลงโทษ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้กระทำผิดทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่อยู่ในระดับสั่งการ ต้องถูกนับรวมว่ามีความผิดทั้งหมด
อ้างอิงจากสื่อ CNN ในฟิลิปปินส์ ศาลโลกเริ่มจับตามองสงครามปราบยาเสพติดหลังจาก Jude Sabio นักกฎหมายยื่นคำร้องเมื่อเดือนเม.ย.ปี 2560 ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ก.พ. Sabio กล่าวว่า เขาดีใจมากและต้องการพิสูจน์ให้โลกรู้โดยผ่านกระบวนการของศาลโลก ซึ่งเขากล่าวว่า เป็นเรื่องทางกฎหมายสำหรับการสอบสวนอาชญากรรมอย่างเป็นทางการต่อดูเตอร์เต
ทั้งนี้ Sabio เป็นนักกฎหมายของอดีตนักฆ่า Edgar Matobato ซึ่งในช่วงปลายปี 2559 มีการกล่าวหาดูเตอร์เตที่มีการใช้วิธีการวิสามัญฆาตกรรมในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเมืองดาเวา ซึ่งอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์
“ งานของเราคือการฆ่าอาชญากร เช่น พ่อค้ายา ผู้ก่อเหตุข่มขืน คนที่เอาเปรียบฉวยโอกาส พวกนั้นเป็นคนที่เราสังหารทุกวัน ” Matobato กล่าวถึงกลุ่มมือสังหารแห่งดาเวา (DDS) ซึ่งเขาเคยเป็นสมาชิก
Arturo Lascanas หัวหน้ากลุ่ม DDS เองเคยกล่าวหาดูเตอร์เตที่ให้การสนับสนุนงานฆาตกรรมของกลุ่มมือสังหาร โดยระบุว่า สมาชิกรับเงินค่าจ้างจากอดีตนายกเทศมนตรี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสังหาร ซึ่งไม่เพียงแต่อาชญากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศัตรูทางการเมืองของดูเตอร์เตและสื่อที่เขาไม่พอใจอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับสิ่งที่ทั้งสองคนพูด โดยเรียกคำให้การของ Lascana ว่าเป็น ‘ข้อมูลที่แต่งขึ้น’
โฆษก Roque โต้แย้งเรื่องสงครามยาเสพติดเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ
“ นี่ไม่อาจนับว่าเป็นการทำร้ายประชาชนพลเมืองของประเทศ นี่เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ” เขากล่าวและทำนายว่า ศาลโลกจะไม่สามารถดำเนินการไปได้ไกลเกินกว่าการตรวจสอบเบื้องต้น
ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลกเป็นองค์กรที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีส่วนร่วมกับองค์กร โดยศาลโลกมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา.