โจโควี่เรียกร้องแบงก์ปล่อยกู้รายย่อย
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือที่สื่อเรียกกันว่า โจโควี่ แห่งประเทศอินโดนีเซียเรียกร้องให้ธนาคารปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs) เพื่อช่วยสนับสนุนให้พวกเขาขยายขนาดธุรกิจ
“ ผมเห็นเจ้าหนี้ (ธนาคาร) คือคนหน้าเดิมๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ผมต้องการให้มีคนมากขึ้นที่เข้าถึงธนาคารได้ ” ผู้นำอินโดนีเซียกล่าวที่ Financial Services Authority (OJK) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงินที่กำลังจัดงานอีเวนต์ในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยอ้างอิงจากรายงานของ OJK ในปี 2560 การกระจายเงินกู้ของธนาคารมีอัตราการเติบโตเพียง 8.35% เมื่อเทียบกับปีก่อน มียอดรวมอยูที่ 4.78 พันล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 11.49 ล้านล้านบาท ในขณะที่กองทุนอื่นมีการเติบโต 9.35% อยู่ที่ 5.29 พันล้านล้านรูเปียห์
โจโควี่กล่าวว่า หากมีการจัดการให้ MSMEs มีช่องทางการเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้มากขึ้น คาดการณ์ว่าพวกเขาจะสามารถยกระดับกลายเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้นได้
“ เราต้องพยายามผลักดันให้มากขึ้นกว่านี้เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาเติบโตจากธุรกิจรายย่อยไปสู่ธุรกิจขนาดกลาง ” ผู้นำอินโดนีเซียกล่าว
โจโควี่เน้นว่าโครงการจำนวนมากของรัฐบาลยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีช่องทางเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้น
เขายังได้อ้างถึงสวัสดิการสังคมที่ไม่ใช่รูปแบบเงินสดซึ่งต้องการหลักฐานบัญชีธนาคารเพื่อรับความช่วยเหลือ และโครงการจัดสรรที่ดินที่ช่วยเหลือที่ดินทำกินให้กับประชาชน
โครงการเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกู้เงินธนาคารโดยใช้เอกสารเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โจโควี่เสริม
ขณะเดียวกัน อันดี ฟาห์มี นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซียกล่าวให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธนาคารที่จะพบกับ MSMEs โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
เขากล่าวว่า ธนาคารจำนวนมากเกียจคร้านเกินไปที่จะเสาะหาผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงการส่งเสริมเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อยของรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า โครงการเครดิตธุรกิจเพื่อประชาชน
ควบคู่ไปกับภาคธุรกิจ กระทรวงเศรษฐกิจแถลงเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ว่า รัฐบาลมีแผนจะกระจายความช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินสดมูลค่า 13.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 32,070 ล้านบาทให้กับประชาชน 10 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในปี 2561 นี้ เพิ่มจำนวนขึ้นจากปีก่อนคือ 1.6 ล้านล้านรูเปียห์สำหรับ 1.2 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนตั้งเป้าที่จะลดตัวเลขความยากจนลงจากเดิมคือ 10.12% ในปี 2560 ให้ลงมาอยู่ที่ 9% ในปีนี้.