ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาไม่ยอมกลับเมียนมา
ค็อกซ์บาซาร์ , บังคลาเทศ (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มีความพยายามที่จะเริ่มดำเนินการส่งชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศคืนกลับประเทศเมียนมา หลังจากเกือบ 300 ครอบครัวชาวโรฮิงญาปฏิเสธจะกลับไป เวลาผ่านไปเกือบปีหลังความพยายามครั้งก่อนล้มเหลวท่ามกลางการประท้วง
สัปดาห์ก่อน ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านตกลงว่าวันที่ 22 ส.ค.จะเป็นวันเริ่มส่งคืนชาวโรฮิงญา 3,450 คนกลับเมียนมา จากทั้งหมดกว่า 730,000 คนที่หลบหนีจากการปราบปรามของทหารเมียนมาในรัฐยะไข่ปี 2560 และตอนนี้พวกเขาอาศัยอยู่ในค่าย
สหประชาชาติระบุว่า การปราบปรามในรัฐยะไข่ของเมียนมามี ‘เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ แม้ทางการเมียนมาจะระบุว่า พร้อมรับผู้ที่กลับมา แต่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาปฏิเสธที่จะกลับเพราะกลัวจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีก
ตั้งแต่มีการประกาศแผน เจ้าหน้าที่สหประชาติและทางการบังคลาเทศได้สัมภาษณ์ผู้ที่พร้อมจะกลับ โดยคัดเลือกจากรายชื่อชาวโรฮิงญากว่า 22,000 คนที่บังคลาเทศส่งให้เมียนมา เพื่อตัดสินว่าพวกเขาอยากจะไปหรือไม่
จนถึงตอนนี้ จาก 295 ครอบครัวไม่มีใครเลยที่ตกลงจะกลับ จากข้อมูลของโมฮัมหมัด อาบุล คาลาม เจ้าหน้าที่บังคลาเทศระบุ แม้จะมีการจัดเตรียมรถบัสโดยสารและรถบรรทุกเพื่อให้พวกเขาเดินทางข้ามพรมแดนแล้วก็ตาม
“ นี่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง” คาลาม ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการฝ่ายส่งตัวผู้ลี้ภัยและการส่งคืนของบังคลาเทศกล่าวให้สัมภาณ์ทางโทรศัพท์กับรอยเตอร์
“ เราสัมภาษณ์ครอบครัวอื่นๆที่รัฐบาลเมียนมาตรวจสอบแล้ว และหากใครแสดงความจำนงที่จะกลับ เราจะส่งพวกเขากลับ มีการจัดการด้านโครงสร้างและขนส่งไว้หมดแล้ว”
Min Thein รมว.กระทรวงสวัสดิการสังคมของเมียนมากล่าวกับสื่อรอยเตอร์ว่า ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยต้อนรับผู้ที่เดินทางกลับมาที่ศูนย์รับรองตามพรมแดน
ความพยายามครั้งก่อนที่โน้มน้าวให้ชาวโรฮิงญากลับคืนรัฐยะไข่ล้มเหลวจากการคัดค้านของผู้ลี้ภัย ความพยายามในเดือนพ.ย.ก่อให้เกิดความกลัวและความสับสนในค่าย และสุดท้ายก็ล้มเหลวหลังจากผู้ลี้ภัยประท้วง
ทั้งนี้ สหประชาชาติและประเทศตะวันตกระบุว่า การปราบปรามของกองทัพเมียนมาในเดือนส.ค.2560 มีการสังหารหมู่และข่มขืนชาวโรฮิงญา
เมียนมาปฏิเสธคำกล่าวหาจากผลการสอบสวนความรุนแรงในรัฐยะไข่ของสหประชาชาติว่าเป็นการสอบสวน ‘เพียงฝ่ายเดียว’ โดยชี้แจงว่าการปราบปรามของกองทัพมีขึ้นหลังจากกลุ่มติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเมียนมาก่อน