ส่องเศรษฐกิจเมียนมา
เศรษฐกิจเมียนมาดูจะยังมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องในระยะสั้นและระยะกลาง ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างช้าๆ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง อ้างอิงจากข้อมูลของ Oxford Business Group
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยการคาดการณ์ในเดือนพ.ย.ปี 2560 โดยระบุว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะเติบโต 6.7% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.
โดยภาคเกษตรกรรมฟื้นตัวอย่างตอเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในปีงบประมาณที่แล้ว และภาคเกษตรกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 38% ของจีดีพี 23% ของการส่งออก และมีการจ้างงานประมาณ 60% ของกำลังแรงงานในประเทศ
ดีมานด์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสำหรับเสื้อผ้าที่ผลิตในเมียนมา และดีมานด์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าบริโภคช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีนี้ โดยข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ชี้ว่า การนำเข้าสินค้าบริโภคและสินค้าช่วงกลางเพิ่มขึ้น 54% และ 20% ตามลำดับ ในช่วงเดือนเม.ย. – ก.ค.ปี 2560
ทาง IMF ได้คาดการณ์ว่า จีดีพีของเมียนมาจะขยายตัวอยู่ระหว่าง 7 – 7.5% ในระยะกลาง
ทั้งนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ว่าจะส่งผลกระทบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
โดยดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาผู้บริโภคสูงตามไปด้วย ทาง ADB บันทึกเงินเฟ้อได้ 6.8% ในปี 2559 และทำนายว่าสิ้นปี 2560 ตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 7% และ 7.5% ในปี 2561 นี้ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3.1% ของภูมิภาคอาเซียนในทั้งสองปี
แม้แนวโน้มโดยรวมจะเป็นบวก ประชาคมธุรกิจกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และการดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง
จากผลการสำรวจที่จัดทำโดย สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCC) และบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger พบว่า ความเชื่อมั่นในกลุ่มนักธุรกิจลดลง โดยตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเชิงบวกลดลงจาก 73% ในช่วงปลายปี 2559 เหลือเพียง 49% ในปีที่ผ่านมา โดยมีคำอธิบายว่า รัฐบาลขาดความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่น
Peter Beynon ประธานหอการค้าอังกฤษในเมียนมา ให้ความเห็นว่า “เพื่อปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ รัฐบาลควรเร่งกระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐบาลควรมุ่งส่งเสริมการเปิดเสรีในหลายภาคส่วน เช่น ประกันภัย ธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และสถาบันการเงินเพื่อคนมีรายได้น้อย”
แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าผลักดันให้เมียนมาขยับขึ้นไปอยู่ใน 100 อันดับแรกของดัชนีประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจภายใน 3 ปี แต่เมียนมากลับหล่นจากอันดับ 171 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 190 ในปีนี้ อ้างอิงจากผลสำรวจ
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปไปได้อย่างช้าๆ แต่ก็มีความรุุดหน้ามากชึ้นในการปรับปรุงบรรยากาศให้นักลงทุน โดยกฎหมายบริษัท ซึ่งผ่านความเห็นชอบในเดือนธ.ค. จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาตถือหุุ้นได้ถึง 35% ในบริษัทท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายปัจจุบัน ที่ไม่ยอมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ และบริษัทต่างชาติต้องประสบกับกฎระเบียบที่ยุ่งยากในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
โดยทางภาครัฐหวังว่า การออกกฎหมายบริษัทฉบับใหม่จะช่วยปรับปรุงบรรยากาศในการลงทุนธุรกิจและขยายขนาดการลงทุนจากต่างชาติในภาคส่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ.