ปรับปรุงสวัสดิการอุต.เสื้อผ้าเมียนมา

ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าและผู้ถือหุ้นในโรงงานมีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากการสรรพกำลังระหว่างการริเริ่มที่แตกต่างกัน และการปรับปรุงสวัสดิการแรงงานเพื่อบูรณาการผลผลิตในโรงงานเสื้อผ้า
โดยมีการเปิดเผยถึงโอกาสเหล่านี้ในระหว่างการประชุมความร่วมมือในการริเริ่มภาคส่วนสิ่งทอที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ในงานเป็นการรวมตัวกันของ 18 องค์กรที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ 10 ปี อุตสาหกรรมเสื้อผ้าในเมียนมาซึ่งเปิดตัวในปี 2558
Business Innovation Facility (BIF) เป็นผูัจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกรมพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (DFID) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้าในประเทศ
ประเมินว่าภาคการผลิตเสื้อผ้าของเมียนมามีการจ้างงานประมาณ 400,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง จากทั้งหมดประมาณ 450 โรงงาน ประเมินว่ายอดส่งออกเสื้อผ้ามีมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 68,493 ล้านบาทในปี 2559 การส่งออกเติบโตถึง 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้การผลิตเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการส่งออกมากที่สุดสำหรับเมียนมา
เซบาสเตียน มัวโน หัวหน้าทีม BIF กล่าวว่า การปรับปรุงสวัสดิการแรงงานในภาคส่วนนี้จะช่วยหนุนผลผลิตและผลประกอบการของโรงงานผลิตเสื้อผ้า โดยทางองค์กรได้จัดการฝึกอบรมในด้านผลผลิตและทรัพยากรมนุษย์สำหรับโรงงานสองกลุ่มในปี 2558 – 2560 ทางมหาวิทยาลัยทัฟท์ส วิทยาเขตบอสตันจะเป็นผู้ประเมินผล ซึ่งจะมีการสรุปผลและเผยแพร่ต่อสาธารณะในไตรมาสแรกของปี 2561
ผลลัพธ์เบื้องต้นชี้ว่า การฝึกอบรมทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น 4 ชิ้นต่อแรงงาน 1 คนที่ทำงานเป็นกะ 8 ชั่วโมงในหลายโรงงาน ซึ่งจะทำให้โบนัสในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หมายความว่าแรงงานจะได้สิทธิประโยชน์จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของพวกเขา ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสวัสดิการแรงงาน นอกจากนี้ มีแรงงานมากขึ้นที่ลงทุนในด้านการศึกษาสำหรับลูกๆของพวกเขาหลังจากผ่านการฝึกอบรม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขารู้สึกมั่นคงมากขึ้นด้านการเงิน
ประโยชน์อีกอย่างจากการปรับปรุงสวัสดิการแรงงานคือ แรงงานที่มีเสถียรภาพและมีผลผลิตมากขึ้น จากผลของการฝึกอบรม โรงงานมีประสบการณ์ที่สำคัญจากการลดลงของการขาดงานของแรงงานจากโรงงานในกลุ่มแรก โดยการขาดงานที่ลดลงเฉลี่ย 36 % ชี้ให้เห็นถึงแรงงานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และโรงงานสามารถวางแผนได้ดีขึ้นในกิจกรรมแต่ละวัน ผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนดและเพิ่มผลกำไร แรงงานยังทำงานได้ระยะเวลานานขึ้นในโรงงาน เนื่องจากมีความสุขมากขึ้นกับเงื่อนไขต่างๆ
นอกจากนี้ แรงงานที่ผ่านการฝึกอบรม จะมีความสุขมากขึ้นในการทำงานล่วงเวลาถ้าเขาจำเป็นต้องทำ หรือจะพูดออกมาเมื่อรู้สึกว่าถูกบีบให้ทำ นี่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้แรงงานพอใจ มีความสุขมากขึ้น และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พวกเขายังรายงานด้วยว่า มีความภูมิใจกับงานที่ทำอยู่เพิ่มขึ้น.