ลาวชี้จีดีพีสูงไม่ยั่งยืน
รัฐบาลลาวหยุดตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินศักยภาพความเป็นจริงของประเทศ บนพื้นฐานของรายได้ที่ไม่ได้คาดการณ์และความตั้งใจที่จะมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เพราะวิธีการในการวางแผนการเติบโตเช่นนี้ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นจริง อ้างอิงจากผู้นำของลาว
“ นี่จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เกิดจากการสร้างสถานะที่เป็นที่น่าพอใจเพื่อเข้าถึงประเด็นที่อ่อนไหวด้านเศรษฐกิจในอีกหลายปีต่อจากนี้ ” นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดกล่าวในการประชุมสมัชชาแห่งชาติในสมัยประชุมสามัญครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ต.ค.
ทั้งนี้ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ลาวมีการตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อยู่ในระดับที่สูงมาก
โดยในการประชุมสมัชชาแห่งชาติในสมัยประชุมสามัญครั้งล่าสุดเมื่อเดือนต.ค.ปี 2559 นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดได้เสนอให้มีการปรับแก้ไขเป้าหมายของแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงมาอยู่ที่ 7% จากเดิม คือ 7.5% และเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจ 5 ปีสำหรับปี 2559 – 2563 ซึ่งเป็นฉบับที่ 8
นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุดลิดกล่าวย้ำว่า เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวที่สูงเกินไป ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง และไม่มีความยั่งยืน
“ โดยทั่วไป เป้าหมายของการพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจของประเทศเราสำหรับปี 2560 นี้ ตามความจริงแล้ว การปรับลดเป้าหมายที่สมัชชาแห่งชาติอนุมัติในการประชุมสามัญครั้งที่ 2 ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว สำเร็จลุล่วงตามแผนของรัฐบาล แม้รัฐบาลจะไม่สามารถทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจบรรลุ 7% ได้ตามเป้า แต่โดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจกำลังเติบโตก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก นี่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายในกลไกประชารัฐ พยายามที่จะจำกัดและป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำโครงการที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติไปดำเนินการ”
โดยรายงานจากนายกรัฐมนตรีทองลุนในวันแรกของการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 4 ยังเน้นให้เห็นถึงข้อจำกัดของรัฐบาลที่ผ่านการวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมาและการบริหารประเทศในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
ซึ่งรวมถึงสิ่งที่รัฐบาลล้มเหลวจนไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ตามเป้าในแผนการจัดเก็บรายได้ แผนการใช้จ่ายงบประมาณ การชำระหนี้ล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐ เงินกู้ที่จำกัดจากธนาคารพาณิชย์เพื่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ
ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางเพื่อส่งเสริมการผลิตและบริการ รวมถึงการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจซึ่งมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ที่ชะลอตัวเกินคาดการณ์ และความไร้ประสิทธิภาพในการปราบปรามผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชั่น.