เศรษฐกิจเวียดนามโตสุดใน 7 ปี
ผลการวิจัยที่จัดทำโดยสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและวิจัยนโยบายของเวียดนาม (VEPR) ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาส 3 เป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 7 ปี แต่เงินเฟ้อก็เริ่มไต่ระดับขึ้นในเดือนส.ค.และเติบโตต่อเนื่องในเดือนก.ย. ด้วยเช่นกัน หลังจากลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี
อ้างอิงจากการรายงานของเหวียน ดุ๊ก ตัน ผู้อำนวยการของ VEPR ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีในไตรมาส 3 อยู่ที่ 7.46% โตขึ้น 0.27% จากไตรมาส 2 โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 จะเติบโตอยู่ที่ 7.12% ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีอยู่ที่ 6.64%
โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและบริการมีการปรับปรุงขึ้น ขณะที่การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตขึ้น 12.77% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่ดัชนีชี้วัดผลผลิตอุตสาหกรรมก็มีตัวเลขเป็นบวกเช่นกัน
ในไตรมาส 4 คาดการณ์ว่าดีมานด์ของผู้บริโภคและดีมานด์ของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในจังหวะเดียวกับการลงทุนด้านการก่อสร้างที่กำลังเร่งเครื่องขึ้น ในขณะเดียวกัน การส่งออกจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการค้าทั่วโลกก็มีการเติบโตเช่นกัน
โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เติบโตเพิ่มขึ้นจาก 2.52% ในเดือนก.ค.เป็น 3.4% ในเดือนก.ย. ตัวเลขนี้สามารถเพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้กับคนไข้ใน 20 จังหวัดที่ไม่มีประกันสุขภาพถึง 58.08% ในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ ราคาค่าการศึกษาของ 46 จังหวัดและเมืองในเดือนส.ค.และก.ย.หนุนให้ดัชนีราคาในส่วนการศึกษาสูงขึ้น 7.92% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559
ดัชนีราคาการขนส่งและคมนาคมเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับราคาน้ำมันในไตรมาส 3 ด้วยตัวเลขการเติบโต 5.7% และ 6.7% ในเดือนส.ค.และเดือนก.ย.ตามลำดับ
ด้วยราคาอาหารที่ฟื้นตัว การเติบโตของสินเชื่อ และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าและสาธาณูปโภคที่ปรับขึ้น ทำให้เงินเฟ้อในไตรมาส 4 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.16% เกินกว่าที่เคยตั้งเป้าไว้คือ 4%
ผลวิจัยของ VEPR ยังชี้ว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่อนุมัติให้การไฟฟ้าของเวียดนามปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารายย่อยจาก 3% เป็น 5% อาจส่งผลกดดันต่อเงินเฟ้อ
นายตัน กล่าวว่า ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 21% เพื่อหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเติบโตได้ถึง 6.7% แต่จนกระทั่งถึงไตรมาส 3 การเติบโตของสินเชื่อยังอยู่ที่ประมาณ 10%.