อินโดฯ เร่งแก้รถติด
หนังสือพิมพ์คอมปาสของอินโดนีเซียรายงานเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ว่า นายบัมบัง โบรโจเนโกโร รมว.วางแผนพัฒนาแห่งชาติและคณะกรรมการบอร์ดวางแผนพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซีย ระบุว่า ปัญหาการจราจรติดขัด ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อินโดนีเซียมากถึงปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ (165,000ล้านบาท)
นาย โบรโจเนโกโร ระบุด้วยว่า สาเหตุหลักของปัญหาจราจรเกิดจากถนนที่มีจำกัด ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถในเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆได้ นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งคมนาคมสาธารณะที่ล่าช้า อย่าง เช่น โครงการเอ็มอาร์ที(รถไฟฟ้าใต้ดิน-Mass Rapid Transit) และ แอลอาร์ที (ระบบรถไฟรางเบา-Light Rail Transit)
โบรโจเนโกโร ยกตัวอย่างโครงการเอ็มอาร์ที มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการตั้งแต่ช่วงทศวรรษ1990 แต่รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการต่อ อ้างไม่คุ้มทุนหรือไม่สมเหตุผลทางการเงิน “พวกเราสร้างโครงการเอ็มอาร์ที ช้ากว่าที่ควรจะเป็นกว่า 30 ปี พวกเราพิจารณาว่าโครงการเป็นไปไม่ได้ทางการเงินหรือไม่คุ้มลงทุน เพราะคิดแค่เรื่องคุณค่า การลง ทุนและเงินรายได้จากโครงการ”
สำหรับโครงการเอ็มอาร์ทีที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างและคาดว่าจะเสร็จสิ้นในอีก2ปีข้างหน้า นายโบรโจเนโกโร เห็นว่า น่าจะพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการขาดทุนหรือสูญเสียต่อเศรษฐกิจจากปัญหาจราจร การสูญเสียที่เกิดจากการใช้เวลาเดินทางนานๆและการสูญเสียเชื้อเพลิงเพราะปัญหาจราจร
สำหรับโครงการเอ็มอาร์ทีเฟสแรกที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งก่อสร้าง เริ่มจากเขตทางใต้กรุงจาการ์ตาไปบรรจบที่วงเวียนโรงแรม อินโดนีเซีย(Hotel Indonesia) บริเวณใจกลางกรุงจาการ์ตา ขณะที่เฟสที่ 2 จะเป็นส่วนต่อขยายเส้นทางจากโครงการเฟสแรกไปที่เขตกัมปุง บันดัน ทางเหนือกรุงจาการ์ตาซึ่งจะเร่งดำเนินก่อสร้างให้แล้วเสร็จต่อไป.