สิงคโปร์แอร์ไลน์ปรับอาหารบนเครื่อง
สิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งเป็นสายการบินเรือธงของสิงคโปร์แถลงว่า จะใช้วัตถุดิบเพื่อความยั่งยืนให้มากขึ้นในการปรุงอาหารสำหรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมและสนับสนุนผลิตผลของเกษตรกรในท้องถิ่น
โดยทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ประกาศแผนริเริ่ม From Farm to Plane เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ซึ่งเป็นการแถลงนอกรอบจากการประชุม World Gourmet Forum ในย่านครันจิ ของสิงคโปร์
ทางสายการบินระบุว่า ภายใต้แนวคิดริเริ่มใหม่นี้ จะใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้นและมีเนื้อสัตว์น้อยลงสำหรับอาหารที่เสิร์ฟให้ผู้โดยสารบนเครื่อง โดยผลผลิตที่สำคัญ เช่น มะเขือเทศเชอร์รี ฟักทอง ถั่วแขก และผักกาดหอม จะมาจากฟาร์มในประเทศสิงคโปร์เองและประเทศอื่นๆ
“ความพยายามปัจจุบันในยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ยังรวมถึงการใช้ปลาจากแหล่งประมงที่ผ่านมาตรฐานและได้รับใบรับรองอาหารทะเลยั่งยืนจากองค์กร Marine Stewardship Council ที่เป็นองค์กรที่ไม่แสงหาผลกำไรและช่วยยกระดับการทำประมงเพื่อความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และผลิตผลจากฟาร์มท้องถิ่น ทั้งในสิงคโปร์และในประเทศต่างๆ ที่สายการบินให้บริการอยู่” อ้างอิงจากแถลงการณ์ของสายการบิน
นอกจากนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ยังระบุว่า ทางสายการบินจะให้เชฟที่มีชื่อเสียงมาสร้างสรรค์เมนูเลิศรถที่ใช้วัตุดิบในท้องถิ่นอีกด้วย โดยเมนูใหม่นี้จะเริ่มนำเสนอให้แก่ผู้โดยสารบนเส้นทางที่คัดสรรเป็นพิเศษภายในปีนี้ก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้น จะค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นเมนูสำหรับผู้โดยสารชั้นอื่นๆ เป็นลำดับถัดไป
“ความพยายามในการปรับเปลี่ยนอาหารและเครื่องดื่มของเราจะช่วยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสิงคโปร์แอร์ไลน์ในการช่วยลดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์และช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น” มาร์วิน ตัน รองประธานอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการของสายการบินกล่าว
“ขณะที่เราพัฒนาคุณภาพของประสบการณ์การรับประทานอาหารบนเครื่อง เรายังรู้สึกพอใจที่ผู้โดยสารของเราทราบว่า เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนแก่สภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง”
ขณะที่บริการด้านอาหารของผู้โดยสารของสิงคโปร์แอร์ไลน์กำลังมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ว่า ทางสายการบินกำลังประสบปัญหาขาดทุนสะสมและต้องมีการยกเครื่องการบริหารจัดการองค์กรครั้งใหญ่ โดยมีข้อเสนอจากสายการบินให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจำนวนพนักงานมากเกินไปเป็นการชั่วคราว.