“ซูเปอร์ มาลาเรีย” ระบาดอาเซียน
นักวิจัยโรคเขตร้อนระบุ “ซูเปอร์ มาลาเรีย” ไข้รุนแรงที่มีสาเหตุยางยุงลาย กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น ทั้งยังหวั่นเชื้อโรคร้ายอาจขยายไปถึงอินเดียและอัฟริกาในอนาคตอันใกล้
คณะนักวิจัยโรคเขตร้อนจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดแห่งอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยไข้มาลาเรียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า เชื้อโรคซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ได้พัฒนาตัวเองขยับขั้นดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการค้นพบเชื้อไข้มาลาเรียดื้อยาครั้งแรกทางภาคตะวันตกของกัมพูชาเมื่อปี 2550 เชื้อโรคได้ขยายไปยังภาคใต้เวียดนาม ขยายมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ขยายไปทางภาคใต้ของสปป.ลาว ขยายไปยังภาคตะวันออกของเมียนมา ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อ ไข้มาลาเรียดื้อยา หรือ “ซูเปอร์ มาลาเรีย” จะขยายไปยังอินเดียและลามถึงทวีปอัฟริกาได้ในอนาคตอันใกล้
ไข้มาลาเรียยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด ปัจจุบันการแพทย์ใช้ยา “Artemisinin” ผสมกับ “Piperaquine” แต่ยาทั้งสองชนิดเริ่มใช้รักษาอาการป่วยไม่ได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิจัยเห็นว่าใกล้ถึงจุดล้มเหลวเข้าไปทุกทีแล้ว ซึ่งหากประชาคมโลกยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขอาจเพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี
ทั้งนี้ แต่ละปีชาวโลกติดเชื้อไข้มาลาเรียเฉลี่ยมากถึงราว 212 ล้านคน การติดเชื้อเกิดจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้มาลาเรียดูดเลือด ผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตส่วนใหญ่คือกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่อัตราความล้มเหลวแก้ปัญหาไข้มาลาเรียในกัมพูชาอยู่ที่เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของชาวโลก ซึ่งติดเชื้อจากอาการดื้อยาเฉลี่ยมากราว 700,000 คน.