ศก.ฟิลิปปินส์ยังโตเกิน 6% ปีหน้า
สถาบันผู้ให้บริการนักลงทุนมูดีส์ทำนายว่า เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะเติบโตเกิน 6% ในปีหน้า และชี้ว่า ความขัดแย้งทางตอนใต้ของประเทศและการปราบปรามยาเสพติดแบบนองเลือดเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้สูงขึ้น แต่ดูจะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
โดยทางมูดีส์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของฟิลิปปินส์จะขยายตัวถึง 6.5% ในปีนี้และ 6.8% ในปี 2561 เนื่องจากการมุ่งเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การลงทุนภาคเอกชนที่เพื่องฟู และการฟื้นตัวในดีมานด์ต่างประเทศ
มูดีส์ยังได้มีความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปภาษีและขาดดุลงบประมาณไว้ดังนี้
- จากสภาวะที่รัฐบาลยังไม่มีรายได้เพิ่มเติมจากการปฏิรูปภาษี รัฐบาลมีแนวโน้มจะใช้จ่ายงบประมาณในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
- การขาดดุลงบประมาณจะมีจำนวนสูงขึ้น การคลังยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ปัจจัยเสี่ยงจากการเพิ่มกำลังทหารทางตอนใต้ของประเทศ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นทางธุรกิจทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นของประเทศ
- กฎอัยการศึกและการขยายอำนาจคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างที่รัฐบาลใช้ในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย สงครามปราบปรามยาเสพติดและความหนาแน่นของเงินทุนอาจทำลายการกระบวนการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
- ความสามารถเริ่มมีข้อจำกัด ทั้งการขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วนที่อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อได้เร็วขึ้น
ทางมูดีส์ยืนยันถึงแนวโน้มในการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเน้นถึงความสำเร็จของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตในการคงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไว้ได้ ตลาดหุ้นของฟิลิปปินส์พุ่งทะยานทำสถิติใหม่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. และฟิลิปปินส์กลายเป็นตัวเลือกแรกสุดของสถาบันการเงินมอร์แกน สแตนลีย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ Diwa Guinigundo ผู้ว่าการธนาคารกลางของฟิลิปปินส์กล่าวในกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไม่ร้อนแรงเกินไป และไม่มีการขยายตัวมากจนเกินไปของสินเชื่อ ทางธนาคารกลางได้ทบทวนเป้าของดุลการชำระเงินและบัญชีเดินสะพัดไว้สำหรับทั้งปี
นอกจากนี้ มูดีส์ยังได้ชี้ให้เห็นถึงเสียงสะท้อนของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักธุรกิจ โดยหอการค้านักธุรกิจต่างชาติกล่าวเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ว่า รัฐบาลต้องแน่ใจว่าการบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติการทางทหารเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล.