บัณฑิตเวียดนามทำงานต่ำกว่าวุฒิ
หนุ่มเวียดนามชื่อเหวียน วัน ดุก เรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเวียดนามมานานกว่า 2 ปีแล้ว แต่ปัจจุบัน เขาทำงานเป็นคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงฮานอยด้วยรายได้เพียง 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
พ่อแม่ของเขาต้องทำ 2 งานเพื่อให้เขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวจากบรรดาพี่น้อง 3 คน
โดยในปัจจุบันมีบัณฑิตหลายพันคนในเวียดนามที่ไม่สามารถหางานได้ตรงตามสาขาวิชาที่เรียนมา ถึงแม้อัตราการว่างงานจะต่ำเพียง 2.3% ก็ตาม
“ ในมหาวิทยาลัย เราเรียนด้านทฤษฏีอย่างเข้มข้น และเรียนคตินิยมของท่านโฮ จิ มินห์กับประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์เยอะมาก ” หนุ่มเหวียนวัย 25 ปีกล่าว
ขณะที่โรงเรียนติดอาวุธให้เด็กๆ ด้วยทักษะพื้นฐานสำหรับงานที่มีค่าแรงต่ำ ในมหาวิทยาลัยกลับล้มเหลวที่จะเครียมความพร้อมให้นักศึกษาสำหรับงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
จากค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นและการผลิตพื้นฐานเริ่มถอนการลงทุนไปหาประเทศที่มีราคาถูกกว่า เป็นอุปสรรคสำหรับความทะเยอทะยานของรัฐบาลเวียดนามที่จะหนุนให้ได้สถานะประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งทางธนาคารโลกจัดอันดับจากรายได้ต่อหัวประชากรที่มากกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2 เท่าของที่เป็นอยู่ในเวียดนามในขณะนี้
“ หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับ มีการพัฒนาด้านการศึกษาเมื่อกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนประเทศที่ไม่มีการพัฒนาการศึกษามักจะพังหรือติดหล่มอยู่ในกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ” Scott Rozelle นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว
โดยสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษามานานก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับการพัฒนาเสียอีก ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจของบราซิล อาร์เจนตินาและเม็กซิโกกลับชะลอตัวลงเพราะไม่มีการลงทุนด้านการศึกษาที่เพียงพอ
ปัจจุบัน มีพ่อแม่ชาวเวียดนามที่ส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้นเพื่อพัฒนายกระดับเป้าหมายในการทำงาน โดยจำนวนชาวเวียดนามที่ศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น รวมถึงร.ร.สอนภาษาเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าในรอบ 6 ปีสิ้นสุดเดือนพ.ค. ปี 2559 คือสูงถึง 54,000 คน อ้างอิงจากหน่วยงานบริการนักเรียนญี่ปุ่น
ถึงแม้เวียดนามจะมีอัตราการรู้หนังสือมากถึง 97% แต่มีแรงงานเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่จบชั้นมัธยมศึกษาเมื่อปีที่แล้ว อ้างอิงจากสถาบันแรงงานและสวัสดิการสังคม
ทั้งนี้ เวียดนามมีอัตราการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เวียดนามจะเติบโตถึง 6% ไปจนถึงปี 2562 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลผลิตอุตสาหกรรมน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอาเซียน โดยสิงคโปร์สูงกว่าเวียดนาม 26 เท่า มาเลเซียมากกว่า 6.5 เท่า ขณะที่ไทยและฟิลิปปินส์อยู่ที่ 1.5 เท่า
“ บัณฑิตหลายคนขาดทักษะที่สำคัญ เช่น การทำงานรวมกันเป็นทีม และทักษะในการจัดการเพื่อทำงานในบริษัท ซึ่งถือเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้เดินถอยหลัง ” ลู กวง ตวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกล่าว.