ลาวปรับเส้นความยากจนใหม่
ลาวเล็งปรับเส้นแบ่งความยากจน หรือ Poverty line พร้อมแบ่งกลุ่มประชาชนที่อยู่ในเมืองกับชนบทแตกต่างกัน กำหนดพื้นที่เขตชนบท ผู้มีรายได้เดือนละ726 บาท ถือว่าอยู่เหนือเส้นความยากจน
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ว่า รัฐบาลของสปป.ลาว เตรียมแก้ไขข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ของเส้นแบ่งความยากจน (Poverty line)ของประชาชนที่อยู่ ในเขตชนบทและเขตเมือง เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี ขึ้นของชาวลาวและเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน
โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบาย ได้ร่างกฎหมายแก้ไขขีดเส้นแบ่งความยากจนซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาใช้ดำเนินการแทนกฎหมายกำหนดเส้นความยากจนเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบันซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2556
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานแห่งคณะกรรมการถาวรแห่งชาติเพื่อพัฒนาชนบทและขจัดปัญหาความยากจนของสปป.ลาว ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดลำดับความยากจนในแต่ละพื้นที่ใหม่ โดยผู้ที่จะถือว่าอยู่เหนือเส้นความยากจน คนๆนั้นจะต้องได้บริโภคอาหารที่ ให้โภชนาการคิดเป็นวันละอย่างน้อย 2,100 กิโลแคลอรีส์รวมทั้งมีเสื้อผ้าและที่อยู่ อาศัยถาวร ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเจ็บป่วยก็สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เองและเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะอื่นๆ
“ร่างกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์เส้นแบ่งความยากจนฉบับใหม่ ได้ทุ่มความใส่ใจไปที่ความมั่นคงของชีวิตประชาชน ความมั่นคงด้านอาหาร การเข้าถึงบริการสาธารณะและอื่นๆ เพื่อสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของประชาชน โดยได้ยื่นต่อรัฐบาลของสปป. ลาวเพื่อพิจารณาและอนุมัติต่อไป” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของสปป.ลาว กล่าว
สำหรับเส้นแบ่งความยากจนฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน พิจารณาเฉพาะรายได้ของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงอายุและเพศ โดยกำหนดหลักเกณฑ์คร่าวๆดังนี้ ผู้ที่มีรายได้เดือนละ192,000 กีบ (23ดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 759บาท) ถือว่าอยู่เหนือเส้นความยากจน แต่หากแบ่งเจาะจงลงในแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่เขตชนบท ผู้มีรายได้เดือนละ180,000กีบ ( เกือบ 22 ดอลลาร์หรือราว 726 บาท) ถือว่าอยู่เหนือเส้นความยากจน ส่วนในเขตชุมชนเมือง ผู้ที่จะถือว่าอยู่เหนือเส้นความยากจน ควรจะมีรายได้เดือนละ 240,000กีบ (29 ดอลลาร์หรือราว 957บาท)