มาเลเซียเรียกร้อง UNHCR แชร์ข้อมูลไอเอส
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.มาเลเซียเรียกร้องให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แบ่งปันข้อมูลของผู้ลี้ภัยและผู้รอสถานะผู้ลี้ภัยจำนวน 150,000 คนที่ลงทะเบียนในประเทศในปัจจุบัน
Nur Jazlan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียกล่าวกับสื่อ Channel NewsAsia ว่า ทางรัฐบาลมีความกังวลว่ากลุ่มติดอาวุธจากรัฐอิสลามอาจหลบหนีเข้ามาในมาเลเซียและได้รับบัตรแสดงสถานะผู้ลี้ภัยที่ออกให้โดย UNHCR เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในประเทศ
” ทาง UNHCR ได้ออกบัตรให้ แต่ทางกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกี่ยวข้องในกระบวนการตรวจสอบใดๆ เลย พวกเขาไม่ได้เก็บข้อมูลยืนยันบุคคลทางกายภาพ เช่น ลายนิ้วมือ จึงไม่สามารถช่วยในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเราได้ โดยเฉพาะในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการก่อการร้าย เราต้องการทราบถึงความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอสที่แทรกซึมเข้ามา หรือจำนวนของคนกลุ่มนี้ ”
“แต่จำนวนผู้ลี้ภัยของ UNHCR กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาเลเซียรู้สึกกังวลมากเกี่ยวกับการมีอยู่และจำนวนของชาวต่างชาติ ถึงเวลาที่รัฐบาลจะพิสูจน์อัตลักษณ์และปิดวงจรที่พวกเขาสามารถเข้ามาในประเทศได้ และเส้นทางของ UNHCR ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเหล่านั้น”
เขาเสริมว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่ลักลอบเข้ามาจากพรมแดนประเทศไทยโดยรถบรรทุกและนี่เป็นเหตุผลที่ต้องมีการปราบปรามในประเทศไทย
Nur Jazlan กล่าวว่าทางกระทรวงยังไม่ได้รับความร่วมมือที่เหมาะสมจาก UNHCR เพื่อบรรลุในกระบวนการตรวจสอบ (POC) ผู้ลี้ภัย 150,000 คนของ UNHCR ในประเทศ
“ โปรแกรม POC บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. พวกเขาเห็นพ้องด้วยแต่ก็ล้มเหลวที่จะให้รายละเอียดของผู้ลี้ภัย พวกเขาไม่ให้ความร่วมมือและชะลอกระบวนการให้ล่าช้าออกไป ”
เขากล่าวว่า ทางกระทรวงกำลังพิจารณาที่จะไปเก็บข้อมูลทางกายภาพโดยตรงกับชุมชนของผู้ลี้ภัยเพื่อระบบความปลอดภัยของพวกเขาเอง รวมถึงการยืนยันใบหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของ UNHCR ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังไม่ได้ตอบคำถามของสื่อในเรื่องนี้แต่อย่างใด
อ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ UNHCR มีผู้ลี้ภัยและผู้รอสถานะผู้ลี้ภัยทั้งหมดประมาณ 149,200 คนที่ลงทะเบียนในมาเลเซียถึงเดือนมิ.ย.ปีนี้
โดย 90% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มาจากเมียนมา เช่น โรฮีนจา ฉิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆจากรัฐยะไข่และรัฐอื่นๆ ผู้ลี้ภัยอีก 16,700 คนมาจากประเทศอื่น โดยมาจากปากีสถาน 3,800 คน จากศรีลังกา 2,200 คน เยเมน 2,100 คน โซมาเลีย 2,100 คน ซีเรีย 1,900 คน อิรัก 1,400 คน จากอัฟกานิสถาน 1,100 คน และปาเลสไตน์ 700 คน
ทั้งนี้ 67% ของผู้ลี้ภัยเป็นชาย 33% เป็นหญิง ขณะที่ 37,000 คนเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี.