มิตซูบิชิลงทุนโรงพยาบาลในเมียนมา
บริษัทมิตซูบิชิจะร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ครบวงจรในเมียนมา เนื่องจากการขยายตัวเติบโตของตลาดดูแลสุขภาพที่ได้แรงขับเคลื่อนจากลูกค้าชนชั้นกลาง และชนชั้นร่ำรวยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยอาคารแรกซึ่งมีมูลค่าในการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านเยน ( 90.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563 บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลให้บริการทางการแพทย์ประมาณ 10 แห่งในเมียนมา นอกเหนือจากที่อื่นๆในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยโรงพยาบาลเหล่านี้จะเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาจากญี่ปุ่นเพื่อรองรับดีมานด์ในบริการทางการแพทย์คุณภาพสูง
ในเดือนส.ค.นี้ มิตซูบิชิจะจัดตั้งการร่วมทุนกับ Capital Diamond Star Group บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการโรงพยาบาล Yee Shin Holding สำหรับคอมเพล็กซ์แห่งแรก โดยมิตซูบิชิจะลงทุน 30% ของเงินทุนในบริการทางการแพทย์ CDSG จะพัฒนาสถานที่ และ Yee Shin จะเป็นผู้บริหารจัดการโรงพยาบาล
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะตั้งอยู่ในพื้นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองย่างกุ้งประมาณ 10 ก.ม. โดย CDSG จะจัดเตรียมพื้นที่ 9,300 ตารางเมตร โดยที่เหลือจะพัฒนาเป็นอพาร์ทเมนท์ที่อยู่อาศัยและช้อปปิ้งมอลล์
โดยโรงพยาบาลจะมีทั้งหมด 300 เตียง เป็นห้องพิเศษประมาณ 70% เพื่อรองรับลูกค้าชนชั้นสูง จะมีบริการรักษาคนไข้อย่างหลากหลาย ทั้งศัลยกรรมกระดูก จักษุวิทยา ระบบทางเดินอาหาร สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา รวมถึงมี 10 ห้องผ่าตัด และเครื่องมือขนาดใหญ่อย่าง เครื่องCT สแกน และคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้มากถึง 1,000 คนต่อวัน
ถึงแม้โรงพยาบาลจะมีทีมแพทย์จากญี่ปุ่นมาประจำที่นี่ แต่ในระยะแรกจะจ้างแพทย์ในประเทศที่ทำงานอยู่ในประเทศและต่างประเทศด้วย ในฐานะผู้ค้าเครื่องมือแพทย์และยา มิตซูบิขิอาจใช้เครือข่ายของลูกค้าโรงพยาบาลที่มีในการจ้างงานแพทย์
ปัจจุบัน มูลค่าตลาดการแพทย์ในเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านเยน และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 20% – 30% ต่อปี เศรษฐกิจของเมียนมาเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากมีการเปิดประเทศ ทำให้จำนวนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีรายได้มากกว่า 500,000 จ๊าด ( 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อเดือนขยายตัวมากขึ้น คาดการณ์ว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2555
มิตซูบิชิมองเห็นโอกาสอีกมากในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีโรงพยาบาลจำนวนน้อยในเมียนมาที่ให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจร
โครงการนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่หาได้ยากที่บริษัทผู้ค้ายักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นจะลงทุนในธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ตั้งแต่ต้น.