เมียนมาจับมือญี่ปุ่นพัฒนาข้าว
เมียนมาและญี่ปุ่นจะประสานความร่วมมือกันในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพภายใต้โครงการในประเทศ อ้างอิงจากถ้อยแถลงของ อู เมียว ตินท์ ตุน รองเลขานุการถาวรของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทานเมียนมา
โดยโครงการนี้มีขึ้นจากการที่เมียนมาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และตัวโครงการมีระยะเวลา 5 ปีเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2560 – ก.พ. 2566 เมียนมามีพื้นที่เพาะปลูกถึง 17 ล้านเอเคอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่สามารถผลิตข้าวคุณภาพดีได้เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและการจัดการที่ย่ำแย่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
“ โครงการนี้จะช่วยเติมเต็มการขาดแคลนเมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพ และจะเป็นการทำงานประสานกันระหว่างเมียนมากับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ JICA” เขากล่าว โดยการผลิตจะมีขึ้นทั่ว 26 เขตเมืองในภูมิภาคอิระวดี และ 7 เขตเมืองในภูมิภาคสะกาย
ทั้งนี้ เมียนมาพยายามที่จะรักษาตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นประเทศชั้นนำในการส่งออกข้าวในภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวจำนวน 2 ล้านตันในปี 2560 -2561 ในปัจจุบัน เมียนมาส่งออกข้าวได้ประมาณ 1.5 – 2 ล้านตัน อ้างอิงจากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา
ทั้งภาครัฐและพ่อค้าข้าวกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่เมียนมาจะทำได้ตามความต้องการของตลาดทั้งในด้านคุณภาพ ราคาและปริมาณ
“ เรามีข้าวที่แตกต่างหลากหลายสายพันธุ์ และผู้ซื้อจากหลายประเทศไม่ชอบคุณภาพข้าวของเมียนมามากนัก ” โก เนียว โซ เจ้าของโรงสีข้าวในกรุงเนปิดอว์กล่าว
ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ข้าวไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผู้ส่งออก มีตั้งแต่สภาพถนนหนทาง คลองชลประทาน และโรงสีข้าวที่ย่ำแย่ นอกจากนี้ การขาดแคลนการทำวิจัยก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน
จนถึงตอนนี้ กระทรวงเกษตร และการวิจัยด้านเกษตรกรรมยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพได้ แม้เมียนมาจะมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากก็ตาม
นอกจากนี้ ราคาก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ “ ข้าวปอว์ ซาน ซึ่งเป็นข้าวในประเทศมีราคาแพงกว่าข้าวจากต่างประเทศ ผู้ซื้อส่วนใหญ่จึงนำเข้าข้าวจากจีน” เขากล่าว
กระทรวงเกษตรและฝ่ายวิจัยเกษตรกรรมจะทำงานกับ JICA ในด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งในด้านการผลิต การเพิ่มจำนวนพันธุ์ การกระจายพันธุ์ และการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในภูมิภาคอิระวดีและสะกาย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กระทรวง สร้างผลประโยชน์ให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว ผู้ค้า และนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่มีอยู่และจะมีการก่อสร้างห้องแล็บที่ได้มาตรฐานญี่ปุ่นเพื่อทดสอบและควบคุมคุณภาพข้าวอีกด้วย.