มาเลเซียปราบแรงงานผิดกฎหมาย
การบุกจู่โจมไซต์ก่อสร้างจากเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกวันนับตั้งแต่มาเลเซียเริ่มปราบปรามแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ก.ค. โดยในช่วง 10 วันแรกของปราบปราม มีแรงงานอพยพมากกว่า 3,300 คนที่ถูกจับกุมตัว รวมถึงนายจ้างมากกว่า 60 คน
แต่ไม่ใช่ไม่มีการเตือนล่วงหน้ามาก่อน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้แจ้งแก่นายจ้างมานานเกือบ 5 เดือนแล้วให้รีบไปจดทะเบียนแรงงานอพยพที่ผิดกฎหมายของตน
ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มุสตาฟาร์ อาลีตั้งเป้าว่าจะจัดให้มีการบังคับใช้บัตรประจำตัว หรือ อี-การ์ด 600,000 ใบแก่แรงงานอพยพที่ไม่มีเอกสาร แต่มีผู้มาขึ้นทะเบียนเพียง 160,000 คนเท่านั้นเมื่อถึงวันที่สิ้นสุดการขึ้นทะเบียน
เจ้าหน้าที่มาเลเซียยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาผ่อนปรนให้อีก เขากล่าวว่านายจ้างมีเวลามานานเพียงพอแล้ว และการปราบปรามจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งแรงงานผิดกฎหมายคนสุดท้ายถูกกวาดล้างจนหมด
“ ผมต้องย้ำว่าการปราบปรามจะดำเนินต่อไป ยอมจำนนในตอนนี้ หรือไม่อย่างนั้นผู้ที่ถูกจับกุมในระหว่างการกวาดล้างจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ”
โดยเขาแจ้งว่า แรงงานอพยพผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมจะถูกขึ้นบัญชีดำและถูกเนรเทศจากมาเลเซีย ขณะที่นายจ้างซึ่งจ้างแรงงานผิดกฎหมายจะถูกปรับและถูกจำคุก
อย่างไรก็ตาม นายจ้างโดยเฉพาะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง อย่างเอสเอ็มอีต่างประสบกับความวุ่นวายโกลาหล หลายคนกล่าวว่า พวกเขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจดทะเบียน ขณะที่หลายคนโทษตัวแทนที่พวกเขาติดต่อให้ช่วยจดทะเบียนแรงงานอพยพผิดกฎหมาย
เนื่องจากการปราบปรามยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายอุตสาหกรรมกำลังระส่ำระสาย โดยเฉพาะในภาคก่อสร้างและภาคบริการ บริษัทรับเหมาก่อสร้างโอดครวญว่า ไม่มีแรงงานเพียงพอในการทำงาน เนื่องจากแรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศตัวเอง หรือไม่ก็หลบซ่อนตัวอยู่
ทั้งนี้ มาเลเซียพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากสำหรับงานในโรงงานและภาคก่อสร้าง เนื่องจากแรงงานในประเทศมองว่าเป็นเป็นงานที่ยุ่งยาก สกปรก และเสี่ยงอันตราย
แต่แรงงานต่างชาติในมาเลเซียกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นทั้งในส่วนค้าปลีกและภาคบริการอื่นๆ โดยที่พวกเขาไม่ทราบว่าอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายอพยพเข้าเมือง ขณะที่ร้านอาหารหลายแห่งทั้งที่อยู่ในและรอบๆ กรุงกัวลาลัมเปอร์ดำเนินกิจการโดยอาศัยแรงงานต่างชาติจากบังคลาเทศ เมียนมา และอินโดนีเซีย
โดยนายจ้างหลายรายกล่าวว่า พวกเขานิยมจ้างแรงงานต่างชาติเนื่องจากค่าแรงถูกกว่าและไม่ต้องยุ่งยากในการจ้างงานแบบถาวร
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประเมินว่า มีแรงงานต่างชาติมากกว่า 3 ล้านคนในมาเลเซีย และครึ่งหนึ่งล้วนเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หลายคนกังวลว่า การปราบปรามจากภาครัฐอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ.