อินโดอยู่ที่ 3 ในดัชนีเดินทางมุสลิม
อินโดนีเซียไต่ระดับเพิ่มคะแนนขึ้นมาในดัชนีเดินทางมุสลิมทั่วโลก (GMTI) โดยเพิ่มขึ้นมาเป็น 72.6 จุด จากเดิม 70.6 จุดในปี 2559 ทำให้อินโดนีเซียขยับจากอันดับ 4 ขึ้นมาเป็นที่ 3
โดยอินโดนีเซียทำคะแนนเบียดแซงตุรกีขึ้นมา เนื่องจากตุรกีมีคะแนนลดลงมา 1.5 จุดเหลือ 72.4 จุดในปีนี้ ขณะที่มาเลเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงรั้งตำแหน่งผูันำได้ต่อไปในอันดับ 1 และอันดับ 2 ด้วยคะแนน 82.5 และ 76.9 จุดตามลำดับ อ้างอิงจากผลสำรวจประจำปีของ Crescent Rating ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของการท่องเที่ยวแบบฮาลาล
ทาง Crescent Rating ได้รับความร่วมมือจากเทคโนโลยีของมาสเตอร์การ์ดในการประเมินและจัดอันดับประเทศต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่า สามารถจัดอาหารฮาลาลรองรับนักเดินทางชาวมุสลิมได้ดีเพียงใด
ผลสำรวจ GMTI ของปี 2560 ครอบคลุม 130 จุดหมายปลายทางทั่วโลก และดัชนีอยู่บนพื้นฐานที่ได้เกณฑ์มาตรฐานจากนักเดินทาง บอร์ดการท่องเที่ยว นักเศรษฐศาสตร์ ผู้จัดบริการเดินทาง ผู้ถือหุ้น นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
โดย 4 จุดยุทธศาสตร์ที่ถูกประเมินในดัชนีคือ การเข้าถึง การสื่อสาร สภาพแวดล้อมและบริการ
ฟาซัล บาฮาร์ดีน ซีอีโอของ Crescen tRating ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ว่า คะแนนของอินโดนีเซียพัฒนาขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่พยายามจะส่งเสริมการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น
นายบาฮาร์ดีนกล่าวว่า จำนวนนักเดินทางชาวมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 117 ล้านคนในปี 2558 เป็น 121 ล้านคนในปี 2559 ด้วยมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 155,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สัดส่วนนักเดินทางมุสลิมคิดเป็น 10% ของจำนวนนักเดินทางทั่วโลก
สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซียเพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทางรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยมั่นใจว่าจะมีสัดส่วนเป็น 40% ของเที่ยวบินทั้งหมดในสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ภายในสิ้นปี 2560 นี้ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 15-20%
โดยเป้าหมายที่เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานนี้เกิดขึ้นหลังจากการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ในสนามบินแห่งนี้ สำหรับการใช้งานของเที่ยวบินต่างประเทศของสายการบินการูด้า ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
“ เที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นโอกาสที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว นี่เป็นวิธีที่ที่จะเพิ่มจำนวนนักเดินทางต่างชาติและเป็นส่วนหนึ่งที่หนุนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ” รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกล่าว
“ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยามยามผลักดันจากภาครัฐเพื่อปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้ เรามีเพียง 13 เคาน์เตอร์เช็คอินผู้โดยสารที่เทอร์มินัล 2 แต่ตอนนี้เรามีถึง 26 เคาน์เตอร์เช็คอินในเทอร์มินัล 3 ”.