การใช้จ่ายผู้บริโภคหนุนเศรษฐกิจมาเลเซีย
เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตเร็วที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของการส่งออกช่วยหนุนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล
โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีเติบโต 4.5% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว อ้างอิงจากการรายงานของธนาคารกลางมาเลเซียที่โพสต์รายงานในอีเมลเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
ซึ่งสูงกว่าตัวเลขการคาดการณ์เฉลี่ยของนักวิเคราะห์ 18 คนจากโพลล์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กอยู่ที่ 4.4%
ตัวเลขจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.4% และเศรษฐกิจเติบโต 4.2% ในปี 2559 ลดลงจาก 5% ในปี 2558
ทั้งนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียตกอยู่ภายใต้แรงกดดดันในไม่กี่ปีมานี้จากราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลงและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซาส่งผลกระทบต่อการส่งออกและรายได้ชะงักงัน การใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญและธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการใช้จ่าย
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีดกลับขึ้นมาช่วยให้รัฐบาลมีพื้นที่ในการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้า รวมถึงการก่อสร้างรถไฟในกัวลาลัมเปอร์และทางหลวงที่เชื่อมต่อกับรัฐซาบอห์และซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ธนาคารกลางมาเลเซียยกระดับควบคุมการค้าเงินริงกิตนอกประเทศในปีที่แล้ว
เนื่องจากค่าเงินริงกิตลดลง 10% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 6 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นการจำกัดกรอบให้มีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโต
“ เราคาดการณ์ว่า การเติบโตของมาเลเซียจะมีเสถียรภาพอยู่ประมาณ 4.5% ใน 2-3 ปีนี้ ” คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์ที่ Capital Economics Ltd. ในสิงคโปร์เขียนในรายงาน
รายจ่ายจากการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งของตัวเลขจีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับลดลง 4.2% แต่การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.3% หลังจากหดตัวลงไปในไตรมาสก่อนหน้านี้
การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจ ชะลอตัวลงอยู่ที่ 5.5% ในไตรมาสที่ 4 ลดลงจาก 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้น 4.8% จากตัวเลขเดิมคือ 4.2%.