อินโด-มาเลย์คงดอกเบี้ย
ธนาคารกลางในอินโดนีเซียและมาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 19 ม.ค. เพื่อช่วยหนุนค่าเงินและป้องกันเงินทุนไหลออก จากการที่สหรัฐฯ มีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น
ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4.75% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 20 คนจาก 21 คนในโพลล์สำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ขณะที่ธนาคารกลางของมาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3%
แนวโน้มที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากได้แรงหนุนจากชัยชนะที่น่าประหลาดใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังกดดันค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่และเท่ากับเป็นการปิดประตูมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารกลางในภูมิภาคกำลังหาหนทางที่มีความมั่นคงเนื่องจากความผันผวนทั่วโลกยังคงสูงอยู่
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 6 ครั้งในปี 2559 เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง แรงกดดันด้านราคาเริ่มก่อตัวขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ทางธนาคารกลางทำนายว่าเงินเฟ้อจะไต่ระดับขึ้นเหนือ 4% ในปีนี้ ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ซึ่งยังคงเป็นไปตามเป้าของธนาคารอยู่ที่ 3-5% ในปีนี้
ธนาคารกลางมาเลเซียต้องการลดเงินเฟ้อที่สูงเกินไปสำหรับปี 2560 นี้ในแถลงการณ์ที่ประกาศถึงการตัดสินใจ เนื่องจากเงินริงกิตอ่อนค่าลงถึง 6% หลังชัยขนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ธนาคารกลางต้องยกระดับควบคุมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อช่วยพยุงค่าเงินให้มีเสถียรภาพ
แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียดูจะดีกว่ามาเลเซียในปีนี้ โดยธนาคารกลางรายงานว่า เศรษฐกิจอาจเติบโตเป็นไปตามเป้าที่วางไว้อยู่ที่ประมาณ 5% ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 5% ในปีนี้
ทั้งนี้ ธนาคารอินโดนีเซียเชื่อว่าถึงเวลาที่ S&P Global Ratings จะเลื่อนอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียขึ้นในด้านการลงทุนเนื่องจากประเทศได้มีการปรับปรุงด้านงบประมาณ อ้างอิงจากความเห็นของจูดา อากัง ผู้บริหารของธนาคารที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในจาการ์ตา โดย S&P เป็นสถาบันสุดท้ายใน 3 สถาบันจัดอันดับหลักที่ยังคงให้อินโดนีเซียอยู่ในสถานะที่น่าลงทุนต่ำ
ทั้งนี้ S&P รายงานเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่าอาจเลื่อนอันดับอินโดนีเซียขึ้นในด้านความน่าเชื่อถือด้านการลงทุนในปี 2560 หรือ 2561 ถ้าสถาบันของประเทศมีการใช้จ่ายที่ดีขึ้น การขาดดุลมีแนวโน้มลดลง หนี้รัฐบาลเหมาะสม และมีการจำกัดหนี้สินผูกพันทางการคลัง.