แผ่นดินไหวที่อาเจะห์ในอินโดฯ
เกิดเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของจังหวัดอาเจะห์ทางตอนเหนือของอินโดนีเซียทำให้บ้านเรือนพังถล่มเสียหายและมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 26 ราย
แผ่นดินไหวขนาด 6.5 แมกนิจูดถล่มพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซิกลิบนเกาะสุมาตรา มีรายงานอาคารพังถล่มหลายสิบแห่งและประชาชนจำนวนมากต้องวิ่งหนีกันออกมาจากอาคารด้วยความตื่นตระหนก
สำนักอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียรายงานว่า ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นสึนามิ
โดยในปี 2547 จังหวัดอาเจะห์เคยถูกถล่มจากสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดจากแผ่นดินไหว ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 120,000 ราย
สำนักสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ รายงานว่า แผ่นดินไหวเกิดนอกชายฝั่งในเวลา 05.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความลึกใต้มหาสมุทรถึง 17.2 กิโลเมตร
นายซาอิด มุลยาดิ ปลัดอำเภอปิดี จายา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในอินโดนีเซียว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีเด็กๆจำนวนมากที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต และโรงพยาบาลในท้องถิ่นก็ไม่อาจรับมือกับผู้บาดเจ็บที่มีจำนวนมากจนล้นโรงพยาบาลได้
มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยค้นหาผู้รอดชีวิต แต่นายไอยุบ อับบัส นายอำเภอปิดี จายา กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากในพื้นที่
สำนักจัดการภัยพิบัติของอินโดนีเซีย ( BNPB) รายงานว่า อาคารจำนวนมากพังเสียหายและมีความพยายามที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตจากซากปรักหักพัง
“ บ้านและร้านค้าในปิดี จายาพังถล่มลงมา ผู้คนบาดเจ็บ เรากำลังพยายามช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด” ดร.สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศของ BNPB กล่าว ทาง BNPB กำลังใช้เครื่องจักรเข้ามาเคลื่อนย้ายซากปรักหักพังเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้กับมัสยิดที่เต็มไปด้วยประชาชนชาวมุสลิมจำนวนมากที่มาละหมาดในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ของอำเภอกล่าวว่า มีผู้สูงอายุรายหนึ่งเสียชีวิตเพราะอาการหัวใจวายจากความตกใจกลัว
ทั้งนี้ เกาะสุมาตราได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งในปีนี้ โดยอย่างน้อย 2 ครั้งเป็นแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างรุนแรง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 แมกนิจูดทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินโดนีเซียคือเมืองเบงกุลู และแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดประมาณ 800 กิโลเมตรนอกชายฝั่งเมืองเปดังเมื่อวันที่ 2 มี.ค.
อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวเพราะตั้งอยู่ในบริเวณแนววงแหวนไฟ ซึ่งเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยครั้ง โดย 90% ของแผ่นดินไหวทั่วโลกและ 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนไฟ.