โปรตอนมาเลเซียดิ้นฟื้นกิจการ
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/08/pr.jpg)
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์โปรตอนของมาเลเซียต้องดิ้นรนอย่างหนักในการหาบริษัทคู่ค้าจากต่างประเทศที่พร้อมทั้งเทคโนโลยีและเงินทุนเพื่อช่วยให้กิจการดำเนินได้ต่อไป แต่แนวโน้มดูจะมืดมนยิ่งขึ้น
“ โปรตอนเป็นแบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภาคภูมิใจของมาเลเซียและควรจะให้คงอยู่ต่อไป ” นายซีเยด ไฟซัล อัลบาร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทแม่คือ DRB-Hicom กล่าวเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ในงานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
ปัจจุบัน โปรตอนได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดจากผู้ผลิตในประเทศอย่าง Perodua และจากแบรนด์ต่างประเทศอื่นๆ
โดยรัฐบาลมาเลเซียให้ความช่วยเหลือโปรตอนเป็นมูลค่าสูงถึง 1,250 ล้านริงกิตเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ความช่วยเหลือมาพร้อมกับเงื่อนไขที่ว่า บริษัทต้องหาเงินทุนจากบริษัทต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูกิจการให้ได้ภายในหนึ่งปี ทำให้โปรตอนต้องร่อนจดหมายไปถึง 14 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศ แต่มีเพียง 3 แบรนด์เท่านั้นที่แสดงความสนใจ แต่ทั้ง 3 บริษัทนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุย อ้างอิงจากข้อมูลของนายอาหมัด ฟุอัด เคนาลิ ซีอีโอของโปรตอน โดยมีทั้งบริษัทผู้ผลิตจากยุโรปและเอเชีย แต่ทางซีอีโอไม่ได้เปิดเผยชื่อของทั้ง 3 บริษัท
โดยนักวิเคราะห์ตลาดรถยนต์ให้ข้อมูลว่า แบรนด์ซูซูกิจากญี่ปุ่นดูจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้มากที่สุด
เนื่องจากเคยมีการลงนามกับโปรตอนในข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและซัพพลายเมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2558 แต่ผู้บริหารคนหนึ่งของซูซูกิให้ความเห็นว่า การเข้ามาถือหุ้นในโปรตอนเป็นเรื่องยาก
“ ทางซูซูกิเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่เพราะนายโอซามุ ซูซูกิ ประธานบริษัทซูซูกิมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดผู้ก่อตั้งโปรตอน ” แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าว
แต่หลังจากอดีตนายกฯ มหาเธร์ลงจากตำแหน่งประธานบริษัทเมื่อเดือน มี.ค. ความสัมพันธ์ของสองบริษัทก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ นายซันชิโร ฟุกาโอ จาก Hamagin Research Institute กล่าวว่า มีอุปสรรคสำคัญ 2 ข้อในอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลเซีย ข้อหนึ่งคือ มีการคาดการณ์ว่าตลาดมาเลเซียจะไม่เติบโตขึ้น เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในมาเลเซียที่มีมากกว่า 600,000 คันต่อปี การแข่งขันรุนแรงมากจนผู้ผลิตทุกค่ายต้องแข่งกันลดราคาลง
“ ยากที่มาเลเซียจะเป็นฮับของการส่งออกรถยนต์ ” นายฟุกาโอ อธิบายว่า มาเลเซียมีซัพพลายเออร์ไม่กี่แห่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าประเทศไทยหรืออินโดนีเซีย หากตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออก ค่าแรงก็สูง วิศวกรในมาเลเซียได้ค่าจ้างมากกว่าตำแหน่งเดียวกันที่ไทยอย่างน้อย 10% อ้างอิงข้อมูลจากรายงานฉบับหนึ่ง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ชาวมาเลเซีย กล่าวว่าปัญหาทางการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยความเสี่ยงทางธุรกิจ ในปัจจุบัน ทางโปรตอนจ้างพนักงานประมาณ 10,000 คน แต่ใช้ความสามารถในการผลิตเพียง 30% จากทั้งสองโรงงาน การปลดพนักงานออกเป็นเรื่องจำเป็นภายใต้แผนการฟื้นฟูกิจการของหุ้นส่วนต่างชาติ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะไฟเขียวให้ทำเช่นนั้น
ทั้งนี้ โปรตอนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาอีก 4 รุ่นตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีนี้ แต่มียอดขายเพียง 40% ในเดือน มิ.ย.- ต.ค.