ซูจีเยือนญี่ปุ่นดึงนักลงทุน
นางอองซาน ซูจี ประธานแห่งรัฐของเมียนมาเดินทางถึงญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเมียนมาและขอความช่วยเหลือ
เนื่องจากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากการปราบปรามมุสลิมชนกลุ่มน้อยในเมียนมาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่กลายเป็นวิกฤติและทำให้สหรัฐอเมริกาวิจารณ์อย่างรุนแรง
โดยทหารยกกำลังเข้าไปในพื้นที่ของรัฐยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเพื่อปราบปรามชาวโรฮิงจาที่ทางรัฐบาลเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายจากรัฐอิสลามในต่างประเทศ
มีการกล่าวหาว่าทหารข่มขืนและสังหารชาวโรฮิงจาอย่างทารุณในช่วงการปราบปราม
ทั้งนี้ วิกฤติที่เกิดขึ้นสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างทีมบริหารประเทศของนางซูจีและทางกองทัพ ซึ่งปกครองประเทศมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษและยังคงมีการสืบทอดอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้นางซูจีถูกวิพากษ์อย่างรุนแรง
กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริการายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีความกังวลเกิดขึ้นจากรายงานเหตุข่มขืนสตรีชาวโรฮิงจาจากการปราบปรามในเมียนมา
ผู้นำเมียนมามีกำหนดเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 วัน และเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งล่าสุดของเธอเพื่อส่งเสริมให้เมียนมาเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุน โดยนางซูจีเคยไปเยือนจีน ไทย สหรัฐอเมริกาและอินเดีย
ทั้งนี้ เมียนมาต้องการการลงทุนจากญี่ปุ่นและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แข็งแกร่ง และเป็นการถ่วงดุลอำนาจจากจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด
โดยในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ เธอจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศ นอกจากนี้ เธอจะไปเยือนเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองที่เธอเคยใช้ชีวิตในช่วงการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับบิดาของเธอ นายพลอองซาน ซึ่งเป็นวีรบุรุษของเมียนมา
เกือบ 50 ปีของการปิดประเทศของรัฐบาลทหาร ทำให้ถนน สนามบิน และไฟฟ้าของเมียนมาค่อนข้างล้าหล้ง ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประจำปีที่สูงถึง 8% ต่อปี ส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการนำเข้า
ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อนางซูจีไปเยือนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาและเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วนางซูจีได้เผยกรอบการทำงานที่ชัดเจนและโอกาสของนักลงทุนต่างประเทศในเมียนมา
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นไม่เคยมีมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินกับเมียนมา ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลสำคัญในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง และจะมีการพัฒนาในเฟสที่ 2 ในเดือนพ.ย.นี้
ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมี.ค.2558 เงินทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นที่ไหลเข้าเมียนมามีมูลค่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศ การส่งออกจากเมียนมาไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าและสินค้าทางการเกษตร ขณะที่เมียนมานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นสูงถึง1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และเครื่องจักร.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.17 บาท / 2 พ.ย. 2559