เมียนมา ห้ามผู้ชายไปทำงานนอกประเทศ
รัฐบาลทหาร เมียนมา สั่งห้ามผู้ชายทุกคนเดินทางไปทำงานนอกประเทศ ในขณะที่สาธารณชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารท่ามกลางการต่อสู้ยืดเยื้อระหว่างฝ่ายกองทัพเมียนมาและฝ่ายต่อต้าน
เรดิโอ ฟรี เอเชีย เว็บไซต์ข่าวไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหรัฐรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ค.) ว่า นับตั้งแต่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารในวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา กองกำลังทหารทั่วเมียนมาได้พยายามกดดันให้ประชากรจำนวนมากเข้าสู่กองทัพเพื่อเพิ่มสรรพกำลัง หลังพ่ายแพ้การต่อสู้ในสมรภูมิรบอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มศึกษากิจการและความขัดแย้งเมียนมา (Burmese Affairs and Conflict Study) ตรวจพบในเดือนเม.ย.ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้กำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปีเข้ารับใช้กองทัพเมียนมาเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ประชาชนกว่า 100,000 รายหลบหนีออกจากบ้านเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
นายญุน วิน ปลัดกระทรวงแรงงานเมียนมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย เมียนมา (RFA Burmese) เมื่อวานนี้ว่า คำสั่งห้ามประชากรชายเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวและจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปตามความจำเป็น
“เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เราจะอนุญาตให้เฉพาะผู้หญิงออกไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนผู้ชายจะไม่สามารถลงทะเบียนขอไปทำงานยังต่างประเทศในช่วงที่มีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ” นายญุน วิน กล่าว
อย่างไรก็ดี นายญุน วินระบุว่า ผู้ชายที่ลงทะเบียนขอไปทำงานต่างประเทศภายในช่วงสิ้นเดือนเม.ย.จะได้รับการยกเว้นจากคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากมีแรงงานจำนวนเล็กน้อยที่ได้เตรียมการผ่านกรมจัดหางานระหว่างรัฐ
นายญุน วินไม่ได้เหตุผลเกี่ยวกับการออกคำสั่งห้ามประชากรชายออกไปทำงานในต่างประเทศหรือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว
ด้านตัวแทนกรมจัดหางานในอำเภอทินกังยุน (Thingangyun) ของย่างกุ้งเปิดเผยกับเรดิโอ ฟรี เอเชียเมื่อวานนี้ว่า คำสั่งห้ามผู้ชายเดินทางไปทำงานต่างประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มจะเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรชายเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่มีการเกณฑ์ทหาร
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประมาณการว่ามีประชากรสัญชาติเมียนมากว่า 4 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ โดยประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุด ทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ชัดเจนว่ามีประชากรเพศชายทำงานในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์