อินโดนีเซียดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ถึงแม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะยังคงผันผวน แต่นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอินโดนีเซีย
อ้างอิงจากรายงาน ‘ จับตากระแสการลงทุนทั่วโลก ’ ที่เผยแพร่ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ชี้ว่า อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 9 ของ 10 ประเทศที่ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) สูงสุดในปี 2559 – 2561 ขยับขึ้นมาจากเดิมคืออันดับที่ 14 ในปี 2557
โดยสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 1 ของรายงานนี้ ตามมาด้วยจีนและอินเดีย มาเลเซียอยู่ในอันดับ 10 ทำให้ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกนี้
“ ความจริงคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นหลายประเทศในยุโรปได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น นักลงทุนทั่วโลกจึงมีแนวโน้มที่จะมองหาโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย ” นายดานาเรคซา เซกุริทาส นักวิเคราะห์จาก Lucky Bayu Purnomo กล่าว
นายโรซาน พี โรเอสลานิ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (Kadin) กล่าวว่า ภาคส่วนธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันคือสินค้าบริโภค
“ นี่จะเป็นภาคส่วนที่ดึงดูดใจที่สุด เมื่อพิจารณาจากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ” เขากล่าว
คาดการณ์ว่าจำนวนชนชั้นกลางในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 141 ล้านคนภายในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากเดิม คือ 88 ล้านคนในปี 2557 อ้างอิงจากผลสำรวจของ Boston Consulting Group โดยการจัดระดับชนชั้นกลางในอินโดนีเซียวัดจากทรัพย์สินในครัวเรือนมีมูลค่าอย่างน้อย 50 ล้านรูเปียห์ ( 135,000 บาท)
ข้อมูลจาก Investment Coordinating Board (BKPM) ชี้ว่า อุตสาหกรรมอาหารของอินโดนีเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในธุรกิจสินค้าบริโภคได้รับ FDI สูงถึง 988.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ และอยู่ในอันดับ 5 จากนักลงทุนต่างชาติ
โดยนักวิเคราะห์ทั้งสองคนกล่าวว่า ภาคส่วนโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับประโยชน์จาก FDI เช่นกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับต้นๆของรัฐบาลในการแก้ไขปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพื่อแผ่ขยายการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะมีมูลค่า 5.5 พันล้านล้านรูเปียห์ภายในปี 2562 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานวางแผนพัฒนาแห่งชาติ
ดัชนี Jakarta Composite ของตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้น 16.3% เมื่อเทียบกับปี 2558 ด้วยมูลค่าเงินทุนต่างชาติสูงเกือบ 35 ล้านล้านรูเปียห์.
หมายเหตุ 1,000 รูเปียห์ = 2.49 บาท / 19 ต.ค. 2559