น้ำมันฟื้นตัวดันจีดีพีบรูไน
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของบรูไนกลับมาเป็นบวกในปีนี้จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตน้ำมัน แต่การเติบโตจะทรงตัวคงที่ถึงปี 2562
อ้างอิงจากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยทางไอเอ็มเอฟรายงานต่อเนื่องจากบทสรุปเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของบรูไนมีแนวโน้มจะขาดดุลเล็กน้อยในปี 2560 และ 2561 จากราคาน้ำมันตกต่ำและการนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
“ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการขยายตัวและสมดุลของเศรษฐกิจมหภาคจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปเนื่องจากการผลิตพลังงานจะกลับเข้ามาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ” อ้างอิงจากรายงานของไอเอ็มเอฟ
โดยทางไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีต่อการขยายตัวมาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำเป็นเวลานานซึ่งส่งผลต่องบประมาณของประเทศ
“ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีกระบวนการที่ล่าช้าอาจลดโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ” ทางไอเอ็มเอฟรายงาน
ในส่วนงบประมาณประเทศปี 2559/2560 ทางไอเอ็มเอฟให้ความเห็นว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการปรับปรุงงบประมาณ แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด ต้องเพิ่มรายได้จากภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันและปรับปรุงการจัดการการเงินของภาครัฐ
นโยบายการบริหารงบประมาณต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและจัดการการใช้จ่ายภาครัฐในขณะที่สนับสนุนการขยายตัวไปด้วยในเวลาเดียวกัน
โดยในระบบธนาคารของบรูไน ไอเอ็มเอฟกล่าวว่าผู้บริหารจะมองเห็นปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และการปรับเปลี่ยนของธนาคารในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาและออกไปของธนาคารต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการจับตามองอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การจัดการกระแสการเงินด้วยการผูกติดกับดอลลาร์สิงคโปร์ส่งผลดีกับบรูไนและยังคงเหมาะสมในการบริหารจัดการอย่างนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ทางไอเอ็มเอฟยังได้ชมเชยรัฐบาลบรูไนในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีความหลากหลายและปรับปรุงงบประมาณซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2558 เพื่อพัฒนาและจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนี้ ทางไอเอ็มเอฟยังได้เน้นให้บรูไนมีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งจะช่วยเปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น และเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างบรรยากาศในการทำธุรกิจให้โปร่งใสยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ.