ซูจีพบโอบามาในสหรัฐฯ
นางอองซาน ซูจี ประธานแห่งรัฐของเมียนมาเข้าพบประธานาธิบดีบารัค โอบามาเมื่อวันที่ 14ก.ย. ซึ่งเป็นการมาเยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
หลังจากเธอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปีที่แล้ว นับเป็นเวลาที่ยาวนานนับทศวรรษที่เธอเปลี่ยนสถานะจากนักโทษการเมืองมาเป็นผู้นำของคนในชาติ
เมื่อไม่มีผู้คัดค้านนางซูจีอีกต่อไป ทำให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีโอบามาต้องการกระชับความสัมพันธ์กับเมียนมาหลังจากรัฐบาลทหารหมดอำนาจ
คาดการณ์ว่านางซูจีจะพบปะกับนายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและสมาชิกอาวุโสคนอื่นของสภาคองเกรส
“ ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ให้กำลังใจและสนับสนุนเธอในบทบาทของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ผู้นำของสหรัฐฯ กำลังให้การต้อนรับบุคคลที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ” อ้างอิงจากความคิดเห็นของนายเมอเรย์ ฮีเบิร์ท ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำศูนย์ยุทธศาสตร์และศึกษานานาชาติของสหรัฐฯ
ทางทำเนียบขาวคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะปรึกษากับนางซูจีเรื่องการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมเพื่อช่วยการลงทุนและการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมา
เมื่อต้นปีนี้ สหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองแต่ยังคงระดับความเข้มงวดทางเศรษฐกิจ ด้วยการจับตาและลงโทษนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมสั่นคลอนประชาธิปไตยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กองทัพของเมียนมาเริ่มลดบทบาทการเป็นผู้ควบคุมประเทศโดยตรงลงในปี 2554 หลังจากอยู่ในอำนาจมานานถึง 49 ปี แต่ยังคงมีบทบาทในการควบคุมทางการเมือง โดยครองที่นั่ง 25% ในสภาและมีรัฐมนตรีคนสำคัญที่มาจากกองทัพถึง 3 คน
นางซูจีถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารเนื่องจากมีสามีเป็นชาวต่างชาติและบุตรชายของเธอไม่ได้เป็นพลเมืองเมียนมา เธอจึงรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นประธานแห่งรัฐแทน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเธอคือผู้นำตัวจริงของเมียนมา
นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระในกรุงย่างกุ้งให้ความเห็นว่า “ ความสัมพันธ์สหรัฐ-เมียนมาไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางยุทธศาสตร์ที่จะกีดกันจีนออกไป แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่รักษาสมดุลมากขึ้น ”
ที่ผ่านมา นางซูจีถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์เรื่องการละเลยไม่สนใจในการแก้ปัญหาสิทธิของชาวมุสลิมโรฮิงจาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ประเมินว่ามีชาวโรฮิงจาประมาณ 125,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายที่แออัดทางชายฝั่งตะวันตก หลังจากเกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในปี 2555
ในสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการที่นางซูจีจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องชาวโรฮิงจา ซึ่งเธอได้ร้องขอให้นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหัวหน้าคณะ โดยนายอันนันได้เดินทางมาเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่มีกระแสต่อต้านจากกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรง.