มุมมองการศึกษาสิงคโปร์ที่เปลี่ยนไป
มีภาพยนตร์โฆษณาล่าสุดในสิงคโปร์เกี่ยวกับมุมมองระบบการศึกษาที่แตกต่างออกไป ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ
ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุดในโลก เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าเน้นที่คะแนนและการสอบมากที่สุด
แต่ภาพยนตร์โฆษณาจากกระทรวงศึกษาธิการ (MOE) ของสิงคโปร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในรูปแบบเดิมได้แล้ว โดยภาพยนตร์สั้น ที่สร้างจากเรื่องจริง แสดงให้เห็นถึงครูคนหนึ่ง ซึ่งสอนวิชาภูมิศาสตร์พยายามที่จะให้กำลังใจนักเรียนคนหนึ่งของเธอซึ่งสอบตกวิชานี้เป็นประจำ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากขึ้น
แต่ถึงแม้จะพยายามมากขึ้น กระตือรือร้นมากขึ้น แต่นักเรียนคนนี้ก็ยังสอบตกอยู่ดี แต่ครูคนนี้กลับชี้ให้นักเรียนเห็นว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่คะแนนที่ได้ แต่อยู่ที่ความพยายามต่างหาก
มีความเห็นชื่นชมภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ปรากฎขึ้นในเพจเฟซบุ๊กของกระทรวงศึกษาธิการทันที โดยมีข้อความว่า “ รู้สึกจับใจมากที่กระทรวงศึกษาสื่อสารเนื้อหานี้ออกมา นับเป็นก้าวเล็กๆที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ที่นักเรียนจะได้รับการศึกษาที่มากกว่าความรู้ในโรงเรียน เยี่ยมมาก! ”
อีกความคิดเห็นคือ “ ชอบโฆษณานี้ที่ไม่ได้จบแบบดราม่าว่า เด็กได้คะแนนดีขึ้น เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ” และ “ ตอนนี้เราซึ้งจนร้องไห้เป็นเด็กเลย ”
ทางกระทรวงศึกษาธิการชี้แจงว่า ภาพยนตร์โฆษณาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบวันครูของสิงคโปร์ เพื่อเน้นการพัฒนาที่แท้จริงในตัวนักเรียน
“ ครูของเราจะมุ่งเน้นในการสร้างบุคคลิกภาพ และทำให้ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนและที่อื่นๆแตกต่างออกไป ”
ที่ผ่านมา สิงคโปร์เองได้มีการจัดโครงการในโรงเรียนมัธยม ด้วยการให้คุณค่ามากขึ้นกับศิลปะและกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่หลายคนมองว่า คงเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมที่มีมานานได้ยาก
จากผลสำรวจล่าสุดของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวในสิงคโปร์ใช้จ่ายเงินในการเรียนพิเศษของลูกมากถึง 827 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากทศวรรษที่แล้ว แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีคือ สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 จากการจัดอันดับการศึกษาของประเทศทั่วโลก โดยวัดจากคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในขณะที่สหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 20 และสหรัฐอเมริกาอยู๋ที่ 28
คุณครูคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมต้น (ขอสงวนนาม) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “ ฉันคิดว่ากระทรวงมาถูกทางแล้ว คือไม่มุ่งเน้นที่เกรดของนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่พ่อแม่และนักเรียนก็ยังคงมีความกดดันเรื่องเกรดอยู่มาก เพราะเป็นนิยามของความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุด ”.