เมียนมาประท้วงผู้แทนยูเอ็น
ชาวพุทธในเมียนมาหลายร้อยคนตั้งแถวประท้วงนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ
เนื่องในโอกาสที่นายอานันมาเยือนรัฐยะไข่ในฐานะตัวแทนในการศึกษาปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาทีทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงจาต้องออกจากพื้นที่
โดยนายอันนันมีงานใหญ่ต้องทำเนื่องจากได้รับการร้องขอจากนางอองซาน ซูจี ประธานแห่งรัฐของรัฐบาลเมียนมา ให้มาเป็นประธานคณะกรรมการในการหาหนทางที่จะเยียวยาปัญหาความยากจนทางตะวันตกของเมียนมา
แต่คงมีนัยสำคัญที่นอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้ง จึงทำให้มีผู้ประท้วงชาวพุทธมารอต้อนรับนายอันนันทันทีที่เขาเดินทางถึงเมืองซิตตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ โดยผู้ประท้วงหลายคนตะโกนว่า “ ไม่เอาโคฟี อันนัน ” ผ่านลำโพงที่ติดตั้งรอบรถบรรทุก และชูป้าย “ ไม่เอาชาวต่างชาติที่มีอคติมาแทรกแซงในรัฐยะไข่ ”
รัฐยะไข่ซึ่งมีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ ต้องประสบกับปัญหาความรุนแรงตั้งแต่ปี 2555 จากการปะทะของชาวพุทธหัวรุนแรงกับมุสลิมโรฮิงจาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
สภาพชาวโรฮิงจาที่ถูกคุกคามทำร้ายได้ทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารของเมียนมาในช่วงเวลานั้น และยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและนางฟ้าเพื่อผู้ยากไร้ของนางอองซาน ซูจีด้วย
มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) ในช่วงเวลาที่ชาวโรฮิงจาไร้ถิ่นฐานต้องอาศัยในค่ายผู้อพยพอย่างสิ้นหวังมานานกว่า 4 ปี
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงจาถูกกีดกันจากชาวพุทธหัวรุนแรงที่กล่าวว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้สัญชาติและเรียกพวกเขาว่า “ เบงกาลี ” ซึ่งหมายความถึงผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนรู้สึกผิดหวังที่นางซูจีไม่ให้ความสำคัญกับชาวโรฮิงจาเท่าที่ควร ทำให้ในเดือน ส.ค.นางซูจีได้ร้องขอให้นายอันนันมาเป็นประธานคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่
นายอันนันซึ่งให้คำสัตย์ว่าจะให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ ได้เข้าพบกับผู้นำในรัฐยะไข่และกลุ่มประชาสังคมในเมืองซิตตเวในช่วงสั้นๆหลังเดินทางถึง โดยเขากล่าวว่าคณะกรรมการของเขาจะให้การรับฟังทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยเขากล่าวว่า “ นี่เป็นการมาเยือนเมียนมาเป็นครั้งแรก ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังและเรียนรู้จากพวกคุณ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ”
แต่กลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่คือพรรค Arakan National Party ไม่ยอมรับการประชุมกับคณะกรรมการนี้ และยื่นเรื่องต่อรัฐสภาให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดนี้
โดยนายอันนันคาดหวังว่าจะได้พูดคุยกับผู้นำของกลุ่มมุสลิม และได้ไปเยือนค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงจา ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หลายหมื่นคนด้วย ชาวโรฮิงจาคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเต็นท์ในหมู่บ้านนอกเมืองชิตตเวกล่าวว่า “ เราอยากให้เขามา ถ้าเขามา เราจะพูดเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองของเรา และเรื่องที่เราต้องทนรับสภาพอยู่ในค่ายมานานกว่า 4 ปีแล้ว ”