กลุ่มชาติพันธุ์เจรจาสันติภาพในเมียนมา
รัฐบาลเมียนมาจะจัดการเจรจาเพื่อสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลที่จะหาทางยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ
โดยการประชุมจะจัดขึ้นในกรุงเนปิดอว์ และมีการเชิญ 17 กลุ่มชาติพันธุ์มาเข้าร่วม และจะมีการกล่าวเปิดการเจรจาโดยนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและนายบัน คี มุน เลขาธิการทั่วไปจากสหประชาชาติ
รัฐบาลเมียนมาหวังว่าการเจรจาจะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์ยอมปลดอาวุธไปตลอดกาล ซึ่งจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ โดยนายบัน จะใช้โอกาสในการเจรจานี้พูดถึงความกังวลที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงจาด้วย
เมียนมา ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมาตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 2491 ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องทั้งอิสรภาพ และการรวมกลุ่มให้แข็งแกร่งขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับบางกลุ่มไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดการเรื่องความมั่นคงในระดับชาติได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้กับพรมแดนจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและอพยพหลายพันคนในหลายปีที่ผ่านมา
นางอองซาน ซูจีกล่าวว่า การรักษาสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปีที่แล้ว
กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งมีจำนวนนักรบนับแสนคนได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจาครั้งนี้ และส่วนใหญ่ตอบรับคำเชิญจากทางรัฐบาล ทั้งกะเหรี่ยง กะฉิ่น ฉานและว้า ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยกับการวางอาวุธเพื่อเจรจา แต่ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 3 กลุ่มที่เล็กกว่าไม่ได้รับเชิญ เนื่องจากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขและยังต้องการต่อสู้กับกองทัพรัฐบาล
ทั้งนี้ นายบันกล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของเมียนมา แต่คาดการณ์ว่าผลการเจรจาจะมีผลเป็นเวลาหลายเดือน มากกว่าหลายปี
ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีกล่าวว่า การเจรจามีความยุ่งยากและขนาดของการประชุมก็เป็นอุปสรรค อย่างไรก็ตาม นี่นับเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของสันติภาพในเมียนมาในรอบเกือบ 70 ปี
ขณะเดียวกัน นายบันแสดงความกังวลเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมชาวโรฮิงจา ที่เป็นประเด็นแยกไปจากการเจรจา โดยเขากล่าวว่า พวกเขาสมควรจะมีความหวัง โดยชาวโรฮิงจาหลายแสนคนพักอาศัยในที่พักชั่วคราวทางตอนเหนือของรัฐยะไข่หลังจากถูกขับไล่อย่างรุนแรงจากชาวพุทธในเมียนมาในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาและชาวเมียนมามองว่าชาวโรฮิงจาเป็นผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายมาจากบังคลาเทศ จึงไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองที่ถูกต้องของเมียนมาและไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางอองซาน ซูจีซึ่งถูกกล่าวหาจากนานาชาติว่าเพิกเฉยต่อชาวโรฮิงจา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในประเด็นนี้ขึ้นมา โดยการนำของนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติ.