เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนาม
กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามกำลังพัฒนาแผนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศภายในปี 2563
โดยตั้งเป้าว่าจะปรับปรุงรูปแบบการเติบโต พัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ทางกระทรวงรายงานว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากการบูรณาการของนานาชาติและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจของอาเซียนต้องค้นหาความได้เปรียบใหม่ๆ ที่สามารถแข่งกันได้
โดยกระทรวงรายงานว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างปี 2553-2558 ช่วยพลิกฟื้นเสถียรภาพให้เศรษฐกิจมหภาค และลดความเสียหายที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไร้ประสิทธิภาพ แต่ยังคงล้มเหลวในการปรับปรุงรูปแบบและโครงสร้างเศรษฐกิจ
ภายใต้แผนฉบับร่างคร่าวๆ ปัจจัยหลัก 3 ประการในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในปี 2563 คือ
จะมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างเหมาะสม และมีเสถียรภาพในเศรษฐกิจมหภาค กระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข็งแกร่ง เพื่อความมั่นคงของประเทศ และนำมาซึ่งระเบียบสังคมและความปลอดภัย
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาฉบับใหม่ จะมีการควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 5% ต่อปี ลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3.5-4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หนี้สาธารณะต่ำกว่า 62% ของจีดีพี และรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามควรจะถูกยกระดับให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย)
ทั้งนี้ เวียดนามต้องมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เกษตรกรรม-ป่าไม้-ประมง, เน้นภาคบริการ 6 อย่าง เช่น โลจิสติกส์ การพัฒนาธุรกิจ การท่องเที่ยว การธนาคารและบริการทางการเงิน รวมถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการฝึกอบรมอาชีพ และ 13 อุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรในการเกษตร การต่อเรือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานรวมถึง อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์และน้ำมัน
บริษัทภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งนี่้ด้วย อ้างอิงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับร่างนี้
โดยนโยบายเศรษฐกิจทั้งหลายจะถูกขับเคลื่อนจากการลงทุนในภาคเอกชนและเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตั้งเป้าว่าต้องมีอย่างน้อย 150 แห่งจาก 500 แห่งที่เป็นความร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศชั้นนำทั่วโลก รวมถึงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาของภาคเอกชน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ
ในส่วนของตลาดเงิน ในแผนฉบับร่างยังกล่าวถึงความพยายามที่จะลดหนี้เสียเพื่อจำกัดความเสี่ยงต่อระบบและส่งเสริมประสิทธิภาพในการร่วมมือกัน นอกจากนี้ ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมให้เท่ากับระดับเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาหรือประมาณ 5%.