เศรษฐกิจมาเลเซียชะลอตัว
เศรษฐกิจของมาเลเซียชะลอตัวเป็นไตรมาสที่ 5 เพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการบริโภคท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา
ธนาคารกลางมาเลเซียรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 4%ในไตรมาส 2 สิ้นสุดเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% ในไตรมาสแรก ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์โดยเฉลี่ยจากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2559 จะชะลอตัวต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี จากรายได้ของราคาน้ำมันที่ตกต่ำ การส่งออกที่ซบเซา และปัจจัยเสี่ยงที่สั่นคลอนรายได้
โดยธนาคารกลางมาเลเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างไม่คาดคิดในเดือนก.ค. และนายโจฮารีอับดุล กานิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รายงานว่ารัฐบาลกำลังศึกษาถึงความสามารถที่จะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหนุนเศรษฐกิจด้วยแผนการที่จะมีการเปิดเผยระหว่างงบประมารประจำปีในเดือนต.ค.นี้
นางจูเลีย โกห์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารยูโอบีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวถึงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการประกาศว่า “ เป็นแนวโน้มที่ค่อนข้างราบเรียบ แต่ดูเหมือนจะจัดการได้ธนาคารกลางจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนตอนนี้ และหลังจากมีการปรับงบประมาณในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ในเดือนพ.ย.อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก”
ค่าเงินริงกิตเปลี่ยนแปลงไปอยู่ที่ 4.00065 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ค่าเงินของมาเลเซียลดลงประมาณ 0.7% ในหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ทำให้มีค่าเงินที่อ่อนค่าลงที่สุดในเอเชีย หลังจากขยับขึ้นสูงสุดในไตรมาสแรกของปี 2559 นี้
ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 3% ในเดือนก.ค. การตัดสินใจครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน ยกเว้นนักวิเคราะห์คนหนึ่งจากผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยเมื่อต้นปีนี้ธนาคารได้ลดจำนวนเงินงบประมาณที่จะกันเป็นทุนสำรอง เพิ่อหนุนกองทุนในระบบการเงิน
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 4-4.5% ในปีนี้ ขณะที่ความผันผวนทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อเสรษฐกิจมาเลเซียในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งอาจจะรับมือด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการผลิตโภคภัณฑ์ที่ดีขึ้น อ้างอิงจากถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารกลางเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่่ผ่านมา
นายมูฮัมมัด อิบราฮิม ผู้ว่าการธนาคารกลาง แถลงเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ว่า การปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ค.เป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวตามคาดการณ์ โดยธนาคารกลางจะประเมินข้อมูลเมื่อต้องมีการตัดสินใจที่จะกำหนดนโยบายทางการเงิน
ผู้ว่าการธนาคารกลางรายงานว่า ความเสี่ยงของเงินเฟ้อในมาเลเซียลดลง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มขึ้น