ปฏิรูปเศรษฐกิจบรูไนได้ผล
การปฏิรูปเศรษฐกิจของบรูไนกำลังเริ่มส่งผลในด้านบวก จากการพัฒนาภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันอ้างอิงจากบริษัทอ็อกซ์ฟอร์ด บิสสิเนสกรุ๊ป (OBG) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาระดับโลก
จากรายงานล่าสุดของโอบีจี ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกของบรูไนในปี 2559 นายพอลลิส คุนซินาส บรรณาธิการบริหารสำหรับเอเชียกล่าวว่า ความพยายามที่จะปรับปรุงบรรยากาศธุรกิจของบรูไนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศขยับขึ้นในอันดับประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจของธนาคารโลก (EoDB) ในปีนี้ และจะขับเคลื่อนการดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายสำคัญ
นายคุนซินาสกล่าวว่า “ขณะที่จะประเมินความท้าทายต่ำเกินไปไม่ได้ เราคาดหวังถึงการมุ่งเน้นที่ภาคส่วนสำคัญ เช่น ภาคการผลิตเพื่อจัดหาเงินทุนให้บริษัทที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน”
ขณะเดียวกัน นายแอนดรูว์ เจฟฟรีย์ ซีอีโอและหัวหน้ากองบรรณาธิการของโอบีจีกล่าวว่า เมื่อบรูไนตระหนักถึงรายได้ที่ลดลงจากราคาน้ำมันตกต่ำ จึงพยายามที่จะขยายโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
โดยเขากล่าวว่า “บรูไนแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังที่จะส่งเสริมธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยการประกาศแผนการลงทุนในภาคส่วนสำคัญ เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนา”
“ความเคลื่อนไหวให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งศาสนา ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บรูไนมองไกลไปกว่าอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยได้กำหนดโร้ดแม็ปในการพัฒนาระยะยาวคือ ‘วิสัยทัศน์บรูไน’ ปี 2578 ขึ้นมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”
รายงานฉบับนี้ใช้เวลาในการลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยนานถึง 6 เดือนและมีการประเมินถึงกระแสและการพัฒนาทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจมหภาค โครงสร้างพื้นฐาน การธนาคารและการพัฒนาในภาคส่วนอื่นๆ
โดยในรายงานยังได้เน้นถึงอุตสาหกรรมฮาลาลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งทั้งสองภาคส่วนล้วนแต่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่ครอบคลุมการพัฒนาภาคส่วนการท่องเที่ยว จากการที่ภาครัฐขยับเป้าหมายไปที่ตลาดท่องเที่ยวที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ท่องเที่ยวแนวรักษ์โลกและทางศาสนาอิสลาม และกระตุ้นนักท่องเที่ยวจากตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวจากจีน
ทั้งนี้ รายงานของโอบีจี ได้พิจารณาบทบาทสำคัญของโครงการที่คาดการณ์ว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะโครงการริเริ่มก่อสร้างสะพานเท็มบุรง ซึ่งจะช่วยเชื่อมพื้นที่ในประเทศเข้าด้วยกัน และแผนการที่จะสร้างศูนย์กลางในการผลิตขึ้น
โดยในรายงานยังได้ค้นพบมาตรการสำคัญอื่นๆ ที่บรูไนกำลังใช้เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ
นอกจากนี้ ในรายงานยังได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้นำในองค์กรระดับโลกไว้หลายคน เช่น ประธานธนาคารกลางของบรูไน คือ ยูซอฟ บิน ฮาจิ ราห์มัน, นายเล หลวง มินห์ เลขาธิการทั่วไปของอาเซียน และนางเซซิเลีย มัลม์สตรอม ซึ่งเป็นคณะกรรมการการค้าของสหภาพยุโรป.