ล่อลวงเด็กผ่านวีแชทในมาเลเซีย
แอพพลิเคชั่นวีแชทถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกใช้งานโดยพวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กในการมองหาเหยื่อเคราะห์ร้ายมากที่สุดในปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ
นางสาวอ๋อง ชิน ลาน รองผู้กำกับที่รับผิดชอบแผนกสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศสตรีและเยาวชน ประจำสถานีตำรวจบูกิต อามาน กรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่ามีกว่า 138 คดีจาก 184 คดีที่ได้รับรายงานจากปี 2558 ว่ามีพวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กพยายามตีสนิทกับเยาวชนผ่านแอพพลิเคชั่นวีแชท
เธอให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวที่สถานีตำรวจบูกิต อามานเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ว่า “โดยมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ด้วย ทั้งเฟซบุ๊ก (35 คดี) ว็อทส์แอพ (6 คดี) และที่เหลือเป็นของแอพพลิเคชั่น บีทอล์ก”
โดยเธอให้รายละเอียดว่าโปรแกรมวีแชทง่ายสำหรับเด็กที่จะรู้จักคนแปลกหน้าได้โดยไม่ต้องผ่านการยืนยันตัวตนหรือผ่านการเซ็นเซอร์ และยังสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้อง ‘เชิญ’ ให้ผู้อื่นเข้าใช้งาน เมื่อพวกเขาเปิดใช้แอพพลิเคชั่นโดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และพวกเขาอาจตกเป็นเหยื่อผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นในทางที่ผิดอย่างพวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้
“พวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กใช้วีแชทค้นหาผู้ใช้ในละแวกใกล้เคียง ใช้ฟิลเตอร์เจาะจงไปที่เพศที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงส่งข้อความไปทักทายเหล่าเด็กๆ ที่ใช้งานที่พวกเขาต้องการตีสนิทด้วย”
นางสาวอ๋องกล่าวว่า เด็กๆ ยังไม่รู้จักโซเชียลมีเดียมากพอ พวกเขาอาจเปิดเผยข้อมูลที่เป็นภัยต่อตัวเองให้พวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยไม่ตั้งใจ โดยพวกคนร้ายเหล่านี้จะพยายามหลอกล่อเด็กด้วยถ้อยคำ ‘ดึงดูด’ ที่ดูไว้วางใจได้
“โดยต่อมาพวกเขาจะเริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น เหยื่อจะถูกหลอกล่อให้ออกไปพบกับอีกฝ่ายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ”
“พวกล่วงละเมิดทางเพศเด็กมักจะเจาะจงไปที่เด็ก (หรือวัยรุ่น) อายุระหว่าง 12 ปี ถึง 15 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้โตพอที่จะออกจากบ้านได้โดยลำพัง”
อ้างอิงจากคำให้การของนางสาวอ๋อง พวกล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้มีด้วยกันสามประเภท เเยกตามความสนใจคือ เด็กชาย เด็กหญิง หรือทั้งสองเพศ
“ดิฉันขอแนะนำให้เหล่าผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กๆ ช่วยจับตาดูพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้ถูกหลอกโดยคนแปลกหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย”
“พวกเขา(เด็กๆ) ควรได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและควรได้ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกล่วงละเมิดทางเพศเด็ก” เธอกล่าว.