ชี้เศรษฐกิจมาเลเซียฟื้นปีหน้า
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในปี 2560 จากราคาโภคภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพ
ในรายงานอนาคตเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่า “ในมาเลเซีย การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวอยู่ที่ประมาณ 4.4% เนื่องจากต้องปรับตัวกับราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำและการตัดลดงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐเนื่องจากรายรับจากภาคส่วนทรัพยากรธรรมชาติลดลง”
ในรายงานยังกล่าวอีกว่า “คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2560-2561 จากเสถียรภาพของราคาโภคภัณฑ์และการปฏิรูปที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาส่งสัญญาณถึงความตกต่ำ”
ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของมาเลเซีย หรือธนาคารเนการาได้คงตัวเลขคาดการณ์ว่า มาเลเซียจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4 – 4.5% ในปี 2559 นี้
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมจีนด้วยว่าจะชะลอตัวอยู่ที่ 6.3% ในปีนี้ โดยในส่วนของจีนเอง คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตจะอยู่ที่ 6.7% แต่ถ้าไม่รวมจีน ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2558
โดยในรายงานยังมีความเห็นว่า “คาดการณ์ว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน จะได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทส เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่า การบริโภคที่แข็งแกร่งที่ได้รับอานิสงส์จากราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ”
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวในเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าราคาพลังงานต่ำ เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง และสภาพตลาดการเงินทั่วโลกที่ยังสดใสอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีนโยบายทางการเงินที่เข้มข้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา
ในบรรดาประเทศผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 5.1% ในปีนี้ เป็นผลมาจากการปฏิรูปที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ในการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นการผลิต
คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่า 3% ในปี 2560 – 2562 จากมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงจนฉุดการบริโภคให้ลดลงและการส่งออกที่ซบเซา
ในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและมองโกเลีย จะได้รับประโยชน์ หากมีการดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่เกี่ยวข้องกับโภคภัณฑ์.