ภาคการผลิตสิงคโปร์ทรุด
ภาคส่วนการผลิตของสิงคโปร์ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนที่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทำสถิติมีผลประกอบการที่ถดถอยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 แล้วในเดือนพ.ค.
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้กิจกรรมทางการผลิตแสดงให้เห็นถึงตัวเลข 49.8 คะแนนเท่ากับในเดือนเม.ย. (ตัวเลขต่ำกว่า 50 คะแนนแสดงถึงการหดตัว)
สถาบันจัดซื้อ และจัดการวัตถุดิบของสิงคโปร์ (SIPMM) ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีจากโพลล์สำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก 150 บริษัทอุตสาหกรรมกล่าวว่า ตัวเลขในดัชนีมาจากแนวโน้มที่ผสมปนเปกัน คือในขณะที่คำสั่งซื้อ และยอดส่งออกสินค้าใหม่ลดลง ผลผลิตจากโรงงานกลับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวมานานถึง 10 เดือน โดยตัวเลขปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.1 คะแนนในเดือนพ.ค.จากตัวเลขเดิม 49.9 คะแนน ในเดือนเม.ย.
แต่การจ้างงานยังคงซบเซา โดยตัวเลขการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมยังคงไม่สดใส โดยตัวเลขลดลง จาก 49.3 คะแนนในเดือนเม.ย มาอยู่ที่ 49.1 คะแนนในเดือนพ.ค. ในหัวข้อนี้ ทางสถาบันให้ความเห็นว่า ดัชนีการจ้างงานในสิงคโปร์หดตัวติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย 2557 แล้ว
ภาคส่วนอิเล็คโทรนิคส์ก็มีตัวเลขย่ำแย่ลง คือลดจาก 49.5 คะแนนในเดือนเม.ย.มาอยู่ที่ 49.1 คะแนน ในเดือนที่แล้ว
โดยตัวเลขที่ลดลงมีสาเหตุมาจากยอดออเดอร์ และยอดส่งออกใหม่ลดลง ผลผลิตโรงงานที่ชะลอตัวและการจ้างงานที่ลดลง ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานในภาคส่วนอิเล็คโทรนิคส์หดตัวติดต่อกันมาถึง 13 เดือนแล้ว ในขณะที่สินค้าอิเล็คโทรนิคส์กลับทำสถิติมีการขยายตัวถึง 11 เดือนติดต่อกัน
ทั้งนี้ตัวเลขที่ย่ำแย่ไม่ได้เกิดเฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น ประเทศอื่นๆในเอเชียก็มีสภาพไม่ต่างกัน
นายเฟดริค นิวแมนน์ หัวหน้าร่วมในการทำวิจัยเศรษฐกิจของเอเชียจากธนาคารเอชเอสบีซีมองว่า ดัชนีพีเอ็มไอในหลายประเทศในเอเชียล้วนแต่กร่อยและซึมเซาเกือบทั้งหมด โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขในดัชนีพีเอ็มไอของจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซียล้วนไม่สดใส ยกเว้นแค่เวียดนามเท่านั้น
ถ้าเจาะลึกเฉพาะตัวเลขในยอดคำสั่งซื้อใหม่ เขาเน้นว่าลดลงถ้วนทั่วทั้งมาเลเซีย ไต้หวันและจีน ในขณะที่ยอดส่งออกสินค้าใหม่ทรุดลงหมดทั้งในจีน อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปปุ่นและอินโดนีเซีย
เขากล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานกลับมีตัวเลขที่เพิ่มขวัญกำลังใจให้บ้าง โดยบริษัทผู้ผลิตในอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพียงแต่การขยายตัวของจำนวนงานยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะหนุนอุปสงค์ในประเทศได้